เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2011 11:36 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2554 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มหดตัวจากผลของภาวะอุทกภัย"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2554 มีสัญญาณหดตัวลงจากผลกระทบของอุทกภัย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วมีการหดตัวร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วมีการหดตัวร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อน ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนตุลาคม 2554 ที่หดตัวร้อยละ -38.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.6 ผลมาจากบริษัทผลิตรถยนต์ในเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยไม่สามารถผลิตรถยนต์เพื่อสนองต่อความต้องการได้ เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2554 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนตุลาคม 2554 ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544 โดยอยู่ที่ระดับ 62.8 จุด เป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมเป็นสำคัญ

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2554 ส่งสัญญาณหดตัวลงเช่นกัน สะท้อนจาก ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2554 หดตัวที่ร้อยละ -41.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนตุลาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 6.1 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่ามีการนำเข้ารายการพิเศษ ได้แก่ แท่นขุดเจาะลอยน้ำและเครื่องบิน โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหักรายการพิเศษมีการหดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ -17.0 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วมีการหดตัวร้อยละ -9.2 จากเดือนก่อน ผลมาจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องหยุดชะงัก ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้น

3. การส่งออกชะลอตัวลงมากจากผลกระทบของอุทกภัย โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนตุลาคม 2554 มีมูลค่า 17.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกในเดือนที่แล้วพบว่า มีการหดตัวร้อยละ -16.0 โดยการชะลอตัวลงของการส่งออก เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่หดตัว ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวชะลอลงอยู่ในระดับที่ร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ หากพิจารณาการส่งออกเดือนต่อเดือนแล้วพบว่า การส่งออกลดลงทุกตลาดยกเว้นการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และลดลงในทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะ ซึ่งสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวมาจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ 18.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 41.9 แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วมีการหดตัวร้อยละ -8.7 จากเดือนก่อน โดยเป็นผลจากการชะลอลงของปริมาณและราคาการนำเข้าสินค้าโดยขยายตัวร้อยละ 11.1 และ 9.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลจากมูลค่าการส่งออกที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2554 ขาดดุล -1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนตุลาคม 2554 พบว่า การจัดเก็บรายได้ชะลอตัวลง แต่ยังคงสูงกว่าประมาณการเล็กน้อย ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณหดตัวจากปีที่แล้ว โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 128.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าประมาณการจำนวน 2.7 พันล้านบาท เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สูงกว่าประมาณการจำนวน 1.5 พันล้านบาท การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการจำนวน 1.3 พันล้านบาท และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่สูงกว่าประมาณการจำนวน 1.6 พันล้านบาท สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนตุลาคม 2554 มีจำนวน 167.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -19.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แยกออกเป็น 1) รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันจำนวน 155.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -19.7 โดยรายจ่ายปีปัจจุบันแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 136.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -28.1 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 19.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 364.2 และ 2) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 11.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ประกอบด้วย รายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 33.7 พันล้านบาท จ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 18.9 พันล้านบาท งบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 4.6 พันล้านบาท และรายจ่ายของสำนักงานศาลยุติธรรมจำนวน 3.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนตุลาคม 2554 จำนวน 2.0 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (กันยายน 2552 - ตุลาคม 2554) เท่ากับ 297.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายสะสมร้อยละ 84.9 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนตุลาคม 2554 สะท้อนว่าปัญหาอุทกภัยส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการชะลอตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงมากโดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนตุลาคม 2554 หดตัวร้อยละ -35.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 โดยเป็นการหดตัวในทุกดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2554 ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 5 โดยอยู่ที่ระดับ 89.0 ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน สำหรับเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (เบื้องต้น) ในเดือนตุลาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วมีการหดตัวร้อยละ -8.3 จากเดือนก่อน โดยเป็นการขยายตัวของยางพาราและมันสำปะหลัง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2554 ยังขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าโดยขยายตัวร้อยละ 4.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ10.1 ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกันโดยอยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 เช่นเดียวกับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนตุลาคม 2554 พบว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.41 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.7 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวมีการหดตัวร้อยละ -13.2 จากเดือนก่อน

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2554 เร่งตัวขึ้นสู่ระดับร้อยละ 4.2 จากระดับร้อยละ 4.0 ในเดือนที่แล้ว โดยเป็นผลจากระดับราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องภาวะอุทกภัยทำให้แหล่งผลิตเสียหายและกระทบต่อระบบการขนส่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 สำหรับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 2.70 แสนคน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 40.2 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2554 อยู่ในระดับสูงที่ 182.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.3 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ