รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 27, 2009 15:52 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 23 / 2552

วันที่ 27 สิงหาคม 2552

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณของการเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการคลังที่มีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง และสะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการส่งออกมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการจ้างงานในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกรกฎาคม 2552 พบว่า นโยบายการคลังมีส่วน ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายรัฐบาลประจำเดือนกรกฎาคมเท่ากับ 164.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.2 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายงบลงทุนได้ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำในเดือนกรกฎาคม 2552 มีจำนวน 128.6 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนมีจำนวน 30.1 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 61.6 ต่อปี ด้านรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล ในเดือน กรกฎาคม 2552 จัดเก็บได้ 98.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -9.1 ต่อปี โดยภาษีฐานรายได้หดตัวร้อยละ -14.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคหดตัวร้อยละ -20.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายได้สุทธิที่จัดเก็บได้ลดลง ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยหดตัวในช่วงที่ผ่านมานั้นบ่งชี้ถึงบทบาทของภาคการคลังที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ (Autmatic Stabilize)

2. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2552 เริ่มมีสัญญาณการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกรกฎาคม ที่แม้ว่าจะ หดตัวลงมากขึ้นที่ร้อยละ -11.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.7 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกรกฎาคม 2552 ที่หดตัวที่ร้อยละ -15.6 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -19.3 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคมที่แม้ว่าจะหดตัวร้อยละ -9.1 ต่อปีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้วพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 66.3 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบางสูง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ -13.3 ต่อปี ตามรายได้เกษตรกร ที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวตามไปด้วย

3. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2552 มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ทั้งในเดือนกรกฎาคม หดตัวลดลงที่ร้อยละ -21.0 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -15.7 ต่อปี ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมิถุนายน 2552 เริ่มขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนยังมีความเปราะบางสูง ดังนั้นบทบาทนโยบาย การคลังยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในโครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) ยังคงมีความจำเป็นต่อเนื่องในการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน (Cwi-i) เพื่อให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน

4. การส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2552 อยู่ที่ 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -25.7 ต่อปี แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกเริ่มชัดเจนขึ้น โดยสินค้าส่งออกที่ปรับตัวได้ดีขึ้นได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ และพลาสติก อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของตลาดภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย และ ไต้หวัน ขณะที่ในส่วนของมูลค่า การนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐพบว่ายังคงหดตัวเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 12.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -32.5 ต่อปี โดยมาจากปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -26.8 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี ในขณะที่เมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า มูลค่าการนำเข้าหดตัวลงในแทบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นการนำเข้าสินค้าทุนที่เริ่มมีการปรับตัวลดลง ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้า ในเดือนกรกฎาคม เกินดุลต่อเนื่องที่ 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2552 พบว่าภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีการปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรยังคงมีความเปราะบางสูง โดยเครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมมีจำนวน 1.1 ล้านคน หดตัวที่ร้อยละ -12.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อเดือน (ปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากยุโรปและเอเชียใต้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่เครื่องชี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม วัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -9.1 ต่อปี อันเป็นผลจากการหดตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์เป็นหลัก ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี ในเดือนกรกฎาคม 2552 ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกลดลง ในขณะที่ผลผลิตข้าวนาปรังยังหดตัวต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้วที่ราคาข้าวขยายตัวในระดับสูงจึงจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น สำหรับราคาสินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -19.6 ต่อปี ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -18.9 ต่อปี

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2552 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคมมาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 และร้อยละ -1.2 ต่อปีตามลำดับ จากปัจจัยฐานราคาน้ำมันที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 43.4 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับสูงที่ 123.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เกินกว่า 5 เท่า

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ