รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 19, 2012 13:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2555

Summary:

1. ครม. อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดลดเหลือร้อยละ 35

2. ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสนอให้บรรจุแผนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11

3. ทางการจีนเปิดเผย 11 เดือนแรกปี 55 ได้รับ FDI จำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Highlight:

1. ครม. อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดลดเหลือร้อยละ 35
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคคลธรรมดา 7 ขั้น โดยปรับอัตราสูงสุดจากร้อยละ 37 ลงเหลือร้อยละ 35 เพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้มากขึ้น และปิดช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดของไทยจะใกล้เคียงกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นแต่ภาครัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากกำลังแรงงานของประเทศจำนวน 38 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบเสียภาษีเพียง 9 ล้านคน ทั้งในและนอกระบบเงินเดือน หรือคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของกำลังแรงงานรวมเท่านั้น โดยในปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 266.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.6 ซึ่งสูงกว่าประมาณการรายได้ 12.1 พันล้านบาทหรือร้อยละ 4.8 ทำให้รายได้สุทธิหลังหักการจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 1.977 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการรายได้ที่ 1.98 ล้านล้านบาท ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคคลธรรมดาจะช่วยให้สามารถขยายฐานภาษีได้มากขึ้นและทำให้ผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ2556 รัฐบาลประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท
2. ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสนอให้บรรจุแผนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในการสัมมนา "11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม : วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 และรองรับ AEC ว่า ตัวแทนจาก 11 อุตสาหกรรมได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เช่น คลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา เรียกร้องให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางปลายน้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง ให้ไทยเป็นฐานการก่อสร้างในภูมิภาคอาเซียนและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตร ผลักดันให้มีการรวมกลุ่มชาวนาและพื้นที่นาอย่างน้อย 1,500 ไร่ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสีข้าว สกัดน้ำมันรำข้าว สร้างโรงไฟฟ้าชุมชน สร้างตลาดและแบรนด์ของข้าวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นเพื่อยกระดับรายได้ ทั้งนี้ ประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เจรจาต่อรองทางธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยขยายธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 39.0 ของ GDP ในปี 54 ทั้งนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตต่างๆ อาทิเช่น แรงงาน ส่งผลกระทบความได้เปรียบทางการผลิตของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะมีส่วนช่วยในวางกรอบนโยบายระยะปานกลางให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคการเกษตรที่มีความได้เปรียบทางการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง เป็นต้น
3. ทางการจีนเปิดเผย 11 เดือนแรกปี 55 ได้รับ FDI จำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • กระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 55 ปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในเดือน พ.ย. 55 มีผู้ได้รับ FDI จำนวน 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาวิกฤติเหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป และการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีน และ FDI โดยสะท้อนได้จากในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.4 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ FDI จากประเทศคู่ค้าสำคัญในช่วง 10 เดือนก็ปรับลดลง เช่น สหภาพยุโรป ฮ่องกง และมาเก๊า ปรับลดลงร้อยละ -4.9 -7.0 และ -13.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว สะท้อนได้จาก (1) การส่งออกเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ (3) อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 55 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 55 และ 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 และ 8.5 ตามลำดับ (ประมาณการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55) โดยในระยะต่อไปรัฐบาลจีนอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจมาเน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกลง เพิ่มบทบาทการลงทุนภาครัฐและเอกชนมากขึ้น และส่งเสริมการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ