รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 - 5 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 5, 2013 13:00 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมี.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 56 เกินดุล 1,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • วันที่ 3 เม.ย. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75
  • สินเชื่อเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่เงินฝากสถาบันการเงินอยู่ที่ร้อยละ 21.1

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน มี.ค.56 อยู่ที่ระดับ 75.0
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) สหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 51.3
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (NBS) ของจีน ในเดือน มี.ค. 56 ปรับเพิ่มจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 50.9
  • อัตราการว่างงานสหภาพยุโรป เดือน ก.พ. 56 เพิ่มขึ้นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 12.0 ของกำลังแรงงาน
  • วันที่ 4 เม.ย. 56 ธนาคารกลางยุโรป ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี

สอดคล้องกับธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ช่วงร้อยละ 0-0.1 ต่อปี

Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 Mar : API (%YoY)                                 3.0               -0.2

ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากนโยบายภาครัฐจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราที่คาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน ตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เก็บเกี่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เป็นต้น

Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ชะลอลลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าจำพวกเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ เนื่องจากหมดช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังมีการปรับตัวลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาสินค้าจำพวกผักและผลไม้มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่หน้าแล้ง ผลผลิตสู่เข้าตลาดน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ตามการลดลงของราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ร้อยละ 0.1 (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบ ท่อสแตนเลส แผ่นสแตนเลส) เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวลดลง สอดคล้องกับราคาหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ อาทิ ยางมะตอย ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เช่นกัน อย่างไรก็ดี ราคาวัสดุในหมวดซีเมนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.4 จากอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนโครงการลงทุนภาคเอกชน และโครงการลงทุนภาครัฐ ทำให้ในไตรมาสแรกปี 56 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.6
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.พ. 56 เกินดุล 1,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -2,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อยที่ 574 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่ามูลค่านำเข้าเล็กน้อย โดยมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัวลงมากผลส่วนหนึ่งจากเทศกาลตรุษจีน ขณะที่ดุลบริการ รายปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิเกินดุล 994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายรับการท่องเที่ยวที่อยู่ในเกณฑ์ดี และการชะลอการส่งกลับกำไรและเงินปันผล ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 55 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล -669 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.9 โดยปริมาณการจำหน่ายเหล็กที่ลดลงได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย (สัดส่วนร้อยละ 62.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 10.1 เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 13.5) หดตัวร้อยละ -6.0 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 14.5) หดตัวร้อยละ -10.8 ซึ่งการลดลงของปริมาณจำหน่ายเหล็กสอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนก.พ. 56 ที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 14.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.9
  • วันที่ 3 เม.ย. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 จากการที่ กนง. ประเมินว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปยังคงมีความเหมาะสม จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว โดย กนง. ระบุว่าจะติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป
  • สินเชื่อเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ อุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากการที่สถาบันการเงินยังคงระดมเงินฝากต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังคงแข่งขันกันเพื่อรักษาฐานลูกค้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องปี 56 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงคืในประเทศ และภาคการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้คาดว่า สถาบันการเงินต่างๆจะระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 75.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ระดับ 74.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 85 เดือน นับตั้งแต่ มี.ค.49 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค. 56 มีจำนวน 201,767 คัน หรือขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.9 ตามการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกทม. ที่ขยายตัวร้อยละ 21.6 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนภูมิภาคยังคงหดตัวที่ร้อยละ -5.2ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกปี 56 ยอดขายรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน มี.ค. 56 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.2 ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากนโยบายภาครัฐจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราที่คาดว่าจะขยายตัวเช่นกัน ตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เก็บเกี่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เป็นต้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด ผลจากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และการผลิตชะลอตัวลง ส่วนดัชนีฯ ภาคบริการ (ISM Non-Mfg PMI) อยู่ที่ระดับ 54.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ยังคงบ่งชี้ความแข็งแกร่งของภาคบริการสหรัฐฯ
Japan: improving economic trend
  • คำสั่งซื้อภาคก่อสร้าง เดือน ก.พ. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 16.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดสร้างบ้านในเดือนเดียวกันที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันที่อยู่ในอัตราต่ำเป็นสำคัญ วันที่ 4 เม.ย. 56 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ช่วงร้อยละ 0-0.1 ต่อปี นับเป็นระยะเวลา 30 เดือนติดต่อกันที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (NBS) เดือน มี.ค. 56 ปรับเพิ่มจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (HSBC) ในเดือนเดียวกันซึ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จุด โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 50 จุดต่อเนื่อง สะท้อน ภาคการผลิตในจีนที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน
South Korea: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (HSBC) เดือน มี.ค. 56 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.0 จุด ในขณะที่มูลค่าการส่งออก (เบื้องต้น) เดือน มี.ค. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกโทรศัพท์เคลื่อนซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักกลับมาขยายตัวแต่ยังคงอยู่ในอัตราต่ำ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า (เบื้องต้น) เดือน มี.ค. 56 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.0 จากภาคการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลการค้าเบื้องต้นในเดือนดังกล่าวเกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากราคาอาหารและค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ
Eurozone: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Markit Composite PMI) เดือน มี.ค. 56 อยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 จุด ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 ที่ระดับ 46.5 จุด โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 46.5 และ 46.4 จุด ตามลำดับ สะท้อนว่าเศรษฐกิจด้านอุปทานยูโรโซนหดตัวต่อเนื่อง อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 12.0 ของกำลังแรงงานรวม บ่งชี้อุปสงค์ในภูมิภาคที่ที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือน มี.ค. 56 ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 31 เดือนที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง วันที่ 4 เม.ย. 56 ธนาคารกลางยุโรป ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ตามการคาดการณ์ของตลาด
Indonesia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์จากคู่ค้าหลักชะลอตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.0 จากการนำเข้าสินค้าในหมวดพลังงานที่ขยายตัวถึงร้อยละ 4.0 ทำให้ดุลการค้าเดือนขาดดุล -300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.5 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.9
Philippines: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.4 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่ทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น
Singapore: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 50.2 จุดเนื่องจากดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังปรับตัวลดลงส่งสัญญาณถึงการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์
Hong Kong: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 22.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีนขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน มี.ค. 56 ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 50.5 จุด อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวยังคงเกินกว่าระดับ 50 จุด เป็น 6 เดือนติดต่อกัน บ่งชี้การขยายตัวต่อเนื่อง
Taiwan: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.2 จุด นับเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 10 เดือน จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการส่งออกไปยังจีน ยุโรป และสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวดีขึ้น
India: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน มี.ค. 56 ปรับลดจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 52.0 จุด จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ชะลอลงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่เหนือกว่าระดับ 50 จุด บ่งชี้กิจกรรมการผลิตที่ยังคงขยายตัว เช่นเดียวกับดัชนีฯ ภาคบริการ ที่อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด ลดลงจากระดับ 54.2 จุดในเดือนก่อนหน้า
Australia: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 56 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและจีนปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -0.5 จากการนำเข้าเครื่องดื่มและยาสูบที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -178 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ขาดดุลน้อยสุดในรอบ 14 เดือน ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 56 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 56 ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าและมีความผันผวนสูง ทั้งระหว่างวันและตลอดสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 4 เม.ย. 56 ปิดที่ 1,528.46 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 60,928.61 ล้านบาท หลังจากที่เกาหลีเหนือประกาศสงครามกับเกาหลีใต้ ซึ่งอาจเป็นชนวนความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลีได้ อีกทั้งปัจจัยการเมืองภายใน ทำให้นักลงทุนเทขายเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 - 4 เม.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -5,066.70 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างคงที่ จากที่นักลงทุนจับตามองการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 56 ที่ผ่านมา โดย กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยระหว่างวันที่ 1 - 4 เม.ย. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 8,685.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 4 มี.ค. 56 ปิดที่ระดับ 29.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงร้อยละ -0.17 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินเยนและวอนเกาหลี จากความกังวลเรืองความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโร ริงกิตมาเลเซีย สิงคโปร์ดอลลาร์ และหยวน มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยนซึงเป้นคู่ค้าหลักที่อ่อนค่าลงในอัตราที่มากกว่าค่าเงินบาท ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.28 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลงมาก โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 4 เม.ย. 56 ปิดที่ 1,552.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงมากจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,598.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ