รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 17, 2013 14:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 เมษายน 2556

Summary:

1. หนี้สาธารณะในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 44.05 ของ GDP

2. World Bank ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย

3. IMF ระบุเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น

Highlight:

1. หนี้สาธารณะในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 44.05 ของ GDP
  • ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.พ. 56 มีจำนวน 5,074.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.05 ของGDP โดยเพิ่มขึ้นสุทธิจากเดือนก่อนหน้า 30.6 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,555.6 พันล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,072.4 พันล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 437.9 พันล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8.1 พันล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานะหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 44.05 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP นอกจากนี้ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่หนี้ระยะยาว (ร้อยละ 96.2 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.3 ของยอดหนี้สาธารณะ) ซึ่งทำให้รัฐบาลมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการชำระคืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในอนาคตแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท คาดว่าจะส่งผลต่อระดับหนี้สาธารณะของประเทศ โดยประเมินว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ระดับไม่เกินร้อยละ 50 ของ GDP ในระยะเวลาประมาณ 7 ปี ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการมีช่องว่างทางการคลังเผื่อไว้ใช้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากที่ได้คาดการณ์ไว้อีกประมาณร้อยละ 10 ของ GDP แม้ว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังจะกำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 ก็ตาม
2. World Bank ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทย
  • ธนาคารโลก (World Bank) ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจากเดิม ในปี 56 และ 57 ที่ร้อยละ ร้อยละ 5.0 และ 4.5 ตามลำดับ สู่ระดับร้อยละ 5.3 ในปี 56 และร้อยละ 5.0 ในปี 57 เนื่องจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดพบว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแรงสนับสนุนหลักการการบริโภคในประเทศ (Domestic demand) ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์เศรษฐกิจไทย (ณ เดือนมี.ค. 56) ในปี 56 จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.8 - 5.8) โดยการบริโภคภายในประเทศจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยการบริโภคภาคเอกชนได้รับผลดีจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นจากการจ้างงานที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เช่น การปรับค่าแรงรายวันขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ และโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น ขณะที่ลงทุนภายในประเทศจะได้รับผลดีจากมาตรการของรัฐเพื่อการส่งเสริมการลงทุน และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐและการลงทุนตามแผนการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท
3. IMF ระบุเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น
  • ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีกว่าเมื่อครึ่งปีก่อน แต่อัตราการขยายตัวที่ไม่เท่ากันในระหว่างภูมิภาคต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวใน 3 ระดับ โดยบางประเทศปรับตัวน่าพอใจ, บางประเทศอยู่ระหว่างการฟื้นตัว และบางประเทศยังย่ำแย่ สำหรับกลุ่ม "ระดับแรก" ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้นIMF ระบุว่าเศรษฐกิจกำลังมีการฟื้นตัวขึ้นหลังจากชะลอลงเล็กน้อยในปีที่แล้วการขยายตัวอาจจะแข็งแกร่งขึ้นโดยการปรับปรุงฐานะการคลังและดำเนินโยบายควบคุมความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีความเหมาะสม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจาก emerging countries และสหรัฐฯ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้น สะท้อนได้จากการอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. 56 ที่ลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงมีความเสี่ยง แม้จะปรับตัวดีขึ้นบ้าง เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัวสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 21.7 ต่อปี ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Easing: Q2) วงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเงินฝืดของประเทศ และบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3-4.3) ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ