รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 16, 2013 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มกราคม 2556

Summary:

1. ธปท. เปิดเผยว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีการปรับตัวตามกลไกตลาดและไม่มีสัญญาณฟองสบู่ภาคอสังหาฯ

2. อสังหาฯ คึกคัก จ่อเปิดโครงการกว่า 2 แสนล้านบาท

3. บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC)มองว่า ภาวะว่างงานคือวิกฤตเศรษฐกิจโลก

Highlight:

1. ธปท. เปิดเผยว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีการปรับตัวตามกลไกตลาดและไม่มีสัญญาณฟองสบู่ภาคอสังหาฯ
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันไม่เปลี่ยนไปมากนัก หากเทียบกับเหตุผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเคลื่อนไหวไปตามเศรษฐกิจภูมิภาคดังนั้น ธปท.ก็คงต้องปล่อยให้เปลี่ยนแปลงตามกลไกของตลาด ส่วนเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เริ่มเห็นการไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียค่อนข้างมากในช่วงนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางช่วงย่อมมีเงินไหลเข้าออกทั้งน้อยและมาก แตกต่างเพียงจังหวะและเวลา ซึ่งเงินทุนเคลื่อนย้ายครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทั้งภูมิภาคตามการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียเริ่มดี โดยเฉพาะ ปี 2556 ที่ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า จะเติบโตค่อนข้างดี ดังนั้น จึงมีการลงทุนค่อนข้างสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารเท่ากับ 30.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินยูโร หยวน ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มีเพียงเงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากการทำมาตรการ QE ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในอัตราที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.24 จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์พบว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ราคาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดิน และราคาอาคารชุดในเดือน พ.ย. 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 2.6 และ 3.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 56 ที่ระดับร้อยละ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 29.7 - 31.7) (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
2. อสังหาฯ คึกคัก จ่อเปิดโครงการกว่า 2 แสนล้านบาท
  • บริษัทใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ พฤกษาแสนสิริ และแอลพีเอ็น ได้เปิดแผนการลงทุนรวมมูลค่าโครงการมากถึง 1.36 แสนล้านบาท จากโครงการไม่ต่ำกว่า 136 โครงการ ทำให้เมื่อนับรวม 10 บริษัทที่มีการเปิดแผนการลงทุนแล้วจะมีอย่างน้อย 120 โครงการ รวมมูลค่าโครงการมากถึง 2 .17 แสนล้านบาท โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ 2 แห่งคือ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) จะเปิดโครงการใหม่ 78 โครงการ มูลค่ากว่า5.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเท่าตัวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย และบริษัท แสนสิริจำกัด (มหาชน) จะเปิดโครงการใหม่ 45 โครงการ มูลค่ากว่า 6.1 หมื่นล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปิดโครงการใหม่มากขึ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในปี 56 สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด การบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 29.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (mo-m SA) ขยายตัวร้อยละ 0.6 นอกจากนี้ สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 56 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากปี 55 ที่ตลาดที่อยู่อาศัยได้รับอานิสงส์จากมาตรการของภาครัฐในด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และนโยบายบ้านหลังแรก รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อยๆ ฟื้นคืนมาจนกลับสู่สภาพปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 55 สะท้อนจากยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 55 สูงถึงประมาณ 3.39 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ในปี 56 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มเปิดโครงการที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดมากขึ้นภายหลังจากที่ราคาที่ดินในตัวเมืองของหลายจังหวัดปรับตัวสูงขึ้น
3. บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC)มองว่า ภาวะว่างงานคือวิกฤตเศรษฐกิจโลก
  • รองประธานบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) กล่าวว่า บรรษัทให้ความสำคัญกับการจ้างงานในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากการจ้างงานเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนได้ในหลายปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างก็ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่า ในแต่ละปีจะมีคนว่างงานถึง 200 ล้านคน และประเทศพัฒนาจำเป็นต้องทำให้เกิดการจ้างงานให้ได้ 600 ล้านตำแหน่งภายในปี 2563 เพื่อก้าวให้ทันกับการเติบโตของประชากร ขณะเดียวกัน องค์การแรงงานโลกได้ออกรายงานเตือนเมื่อเดือนกันยายนปี 2555 ว่า อัตราว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร และเศรษฐกิจที่ขยายตัวช้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การจ้างงานถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศของประเทศกำลังพัฒนา เพราะนอกจากเรื่องของรายได้แล้ว การจ้างงานยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดภาวะความยากจน โดยจากรายงานการพัฒนาโลกประจำปี2556 พบว่า ความยากจนจะลดลงเนื่องจากประชากรมีการจ้างงาน และจ้างงานช่วยเสริมให้ผู้หญิงมีอำนาจในการลงทุนเกี่ยวกับบุตรเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจ้างงานจะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ แต่สถิติอัตราการว่างงานโดยรวมของกลุ่มยูโรโซนกลับอยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 11.7 หรือประมาณ 18.8 ล้านคนในเดือน พ.ย.55 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องผลการวิจัยโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และองค์การ เฮลป์เอจ อินเตอร์เนชันนัล ที่ระบุว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นราว 200 ล้านคนภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือจะมีมากกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย การเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานไทยก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องทักษะฝีมือและความสามารถทางด้านภาษาสากลหรืออย่างน้อยหนึ่งในภาษาอาเซียน รวมทั้งทัศนคติที่ดีต่อการทำงานนั้นจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย ซึ่งอาจจะเป็นทางออกสำคัญให้กับแรงงานไทย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ