รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2013 11:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 56 ชะลอตัวจากการบริโภคและการลงทุน

2. กนง. ออกแถลงการณ์ดูแลค่าบาท พร้อมออกมาตรการ หากค่าเงินแข็งเกินพื้นฐาน

3. ก.พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.42

Highlight:

1. เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 56 ชะลอตัวจากการบริโภคและการลงทุน
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 56 มีเสถียรภาพแม้ว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าตามการใช้จ่ายภาคเอกชนและการลงทุน ทั้งนี้ การชะลอลงของภาพรวมเศรษฐกิจไม่ถือว่ารุนแรงมากนักเนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลกับเดือนก่อนหน้า และส่วนหนึ่งมีการเร่งการใช้จ่ายกันไปมากนช่วงก่อนหน้า ตอนนี้จึงถือว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแต่ก็ต้องติดตามดูว่าการชะลอตัวจะยืดเยื้อไปยาวนานหรือไม่ นอกจากนี้ ธปท. ยังสำรวจพบว่า การชะลอลงของสินเชื่อภาคเอกชนในขณะนี้น่าจะเกิดจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งทำให้ ธปท. คลายความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและฟองสบู่ลงได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 56 และไตรมาสที่ 1 ของปี 56 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ดีแม้ว่าจะชะลอลงจากช่วงก่อนหน้าที่มีการขยายตัวเร่งขึ้นมาก โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 6.9 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.0 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) พบว่าหดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ -0.1 ต่อไตรมาส ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบินและรถไฟในเดือน มี.ค. 56 หดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.0 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลพบว่าหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -5.6 ต่อไตรมาส นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไตรมาสแรกของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.5 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลพบว่าหดตัวร้อยละ -0.5 ต่อไตรมาส สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อ พบว่า สินเชื่อในเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปี 56 ถือว่ามีแรงขับเคลื่อนหลักทั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวและการลงทุนภาครัฐที่มีแผนการลงทุนต่างๆ ชัดเจนขึ้น โดย สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.8-5.8) (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)
2. กนง. ออกแถลงการณ์ดูแลค่าบาท พร้อมออกมาตรการ หากค่าเงินแข็งเกินพื้นฐาน
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะดำเนินนโยบายแก้ปัญหา หากว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ คณะกรรมการ กนง. ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่น ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทก็เป็นโอกาสที่เอื้อให้เอกชนสามารถลงทุนเพื่อปรับ ปรุงประสิทธิภาพการผลิต สำหรับในแง่ลบนั้น การแข็งค่าของเงินบาทได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และผู้ส่งออกที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ สินค้าเกษตร และแรงงานในสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ตาม การปรับตัวอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการได้ช่วยลดทอนผลกระทบได้ในระดับ หนึ่ง ซึ่ง กนง. ประเมินว่า แม้การแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลกระทบ แต่เศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามาตั้งแต่กลางปี 55 และแข็งค่าขึ้นมาในช่วงเดือน ม.ค. และ เม.ย. 56 ที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 1 พ.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ 29.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้น 2.86 % จากค่าเฉลี่ยปี 55 ซึ่งอยู่ที่ 30.47 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินบาท [Nominal Effective Exchange Rate (NEER)] ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับสกุลเงินคู่ค้าหลักถ่วงน้ำหนัก แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 1.97 จากต้นเดือนเมษายน 2556 เนื่องจากค่าเงินของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยแข็งค่าขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเงินบาท อีกทั้งค่าเงินเยน (สัดส่วนร้อยละ 20.43 ของการคำนวณ NEER ของสศค.) อ่อนค่าลงมากถึงร้อยละ -6.48 จากต้นปีค่าเงินบางแข็งตัวขึ้นมาเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น จะเห็นได้ว่าค่าเงินเยนอ่อนตัวลงมาก หลังจากการประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Quantitative and Qualitative Easing: Q2 ) แสดงให้เห็นว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมามีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย และการเก็งกำไรของนังลงทุน ทั้งนี้ สศค. เห็นว่าควรจะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดต่ออีกระยะเพราะช่วงนี้เงินบาทอ่อนค่าลง โดยถ้าเงินบาทแข็งค่าอีกจะได้ดำเนินนโยบายได้อย่างทันการณ์
3. ก.พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน เม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.42
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.42 ลดลงร้อยละ 0.16 จากเดือน มี.ค.56 ขณะที่อัตราเงินพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.18 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.06 จากเดือน มี.ค.56 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/56 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.09 เนื่องจากไตรมาส 2 เป็นช่วงฤดูฝนจึงมีสินค้าผักและผลไม้สดออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ และสุกร จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในเรื่องของราคาสินค้า และคาดว่าทั้งปี 56 อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1-3.2 ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่วางไว้ โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 2.8-3.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเม.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ชะลอลลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผลผลิตทางด้านการเกษตรได้รับผลกระทบเข้าสู่ตลาดน้อยลง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยมีสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 113 ดอลล่าร์/บาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.4 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ