รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 9, 2013 14:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. ค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออกแล้วแสนล้านบาท

2. เตือนลงทุนพม่าหลังปี 58 ประสบปัญหาราคาที่ดินและค่าแรงสูง

3. ยอดส่งออก-นำเข้าจีนในเดือนเม.ย.56 เติบโตมากกว่าที่คาดการณ์

Highlight:

1. ค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออกแล้วแสนล้านบาท
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า จากการหารือกับผู้ส่งออกพบว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแข็งค่าของเงินบาทคิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มอัญมณีที่การส่งออกลดลงถึง 41% ดังนั้นหากไม่เร่งแก้ไขอาจทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่า 50% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 9% หรืออาจจะไม่ขยายตัวเลยก็เป็นไปได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นทำให้มูลค่าของสินค้าและบริการที่ส่งออกเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศเมื่อแปลงเป็นเงินบาทจะมีมูลค่าลดลง ส่งผลทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้และทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคเอกชนลดลง ทั้งนี้ ภาคการส่งออกของไทยมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 55 ภาคการส่งออกของไทยมีมูลสูงค่าคิดเป็นร้อยละ 75 ของ GDP ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1 ส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ สศค. ประมาณการมูลค่าการส่งออกในปี 56 ในกรณีฐานที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 29.4 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 - 10.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 56)
2. เตือนลงทุนพม่าหลังปี 58 ประสบปัญหาราคาที่ดินและค่าแรงสูง
  • หอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์เรื่อง "การค้าและการลงทุนของพม่า หลังปี 2515" ว่า ต้นทุนการทำธุรกิจในพม่ากำลังมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยค่าจ้างแรงงาน ในเมืองใหญ่มีค่าจ้างแรงงานต่อวันมากกว่า 120 บาทต่อวัน ขณะที่ในย่างกุ้งอยู่ที่ระดับ 150 บาทต่อวัน ซึ่งไม่รวมค่าสวัสดิการ การรับส่งพนักงาน และอาหารการกินที่ต้องมีให้พนักงาน โดยเชื่อว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ค่าแรงในพม่าจะปรับขึ้นสูงถึง 250 บาทต่อวันทั่วประเทศ ขณะที่ราคาที่ดินก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 200-300% โดยราคาที่ดินนอกเขตอุตสาหกรรมจะสูงกว่าในเขตอุตสาหกรรม ส่วนราคาซื้อขายและเช่าที่ดินในกรุงย่างกุ้งในปี 2552 อยู่ที่ราคาไร่ละ 15.5 ล้านบาท ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 450% และในปี 2559 คาดว่าจะมีราคาอยู่ที่ไร่ละ 232 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 900% ส่วนที่ดินในเมืองมัณฑะเลย์ ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ 35.6 ล้านบาท และ ในปี 2559 จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ 61.9 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนราคาที่ดินในทวาย ในปี 2556 มีราคาอยู่ที่ไร่ละ 110 ล้านบาท และ ในปี 2559 จะมีราคา 140 ล้านบาทต่อไร่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถิติการค้าชายแดนไทย ในปี 55 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจากปี 53 มีมูลค่าเพียง 6 แสนล้านบาท โดยตลาดการค้าชายแดนที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือ มาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา โดยมีสัดส่วนร้อยละ 60 20 10 และ 9 ตามลำดับ ทั้งนี้ แม้ว่าไทยยังมีการค้ากับพม่าไม่สูงนัก แต่ในอนาคตหลังจากพม่ามีการปฏิรูปเศรษฐกิจและประเทศรวมถึงมีการเปิดรับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยกำลังจะมีพ.ร.บ.การลงทุนฉบับใหม่ที่เน้นเพิ่มสิทธิประโยชน์จากภาษีมีผลบังคับใช้ (อาทิ การงดเว้นเก็บภาษีเป็นเวลา 8 ปีสำหรับธุรกิจต่างชาติ) และที่สำคัญยังมีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองทวาย ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุนขนาดใหญ่ของอาเซียน ทำให้คาดว่าจะกระตุ้นให้แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ แผนการเปิดด่านถาวรไทย-พม่าเพิ่มขึ้นก็น่าจะยิ่งเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาดพม่าเพิ่มมากขึ้น และน่าจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
3. ยอดส่งออก-นำเข้าจีนในเดือนเม.ย.56 เติบโตมากกว่าที่คาดการณ์
  • กรมศุลกากรจีน รายงานว่า ยอดส่งออกในเดือนเม.ย. 56 เพิ่มขึ้น 14.7% ขณะที่ยอดนำขยายตัวที่ 16.8% ส่งผลให้จีน ได้เปรียบดุลการค้า 1.816 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. 56 ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์จากตลาดว่ายอดส่งออกจะโตเพียง 10.3% และยอดนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 13.9% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมี.ค. 56 ยอดส่งออก เพิ่มขึ้น 2.7% ในขณะที่ยอดนำเข้าลดลง -7.7%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของจีนในเดือนเม.ย. 56 ที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น นั้น ได้ส่งสัญญาณถึงความต้องการ (Demand)ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภายนอก จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นจากปีก่อน และเป็นการบ่งชี้ถึงสัญญาณเศรษฐกิจจีนที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างมากหลังจากที่อยู่ในภาวะที่ซบเซา สอดคล้องกับ GDP ไตรมาส 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 56 จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของรัฐบาลโดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดี และนโยบายการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 8.2 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ