รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2013 15:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2556

Summary:

1. ผู้ว่า ธปท.ยัน กนง.พิจารณาดอกเบี้ยตามข้อมูลชี้บาทอ่อนช่วงนี้ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจ

2. TMB ชี้ ศก.ไทยยังเผชิญความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ

3. จีน - อียูเล็งจัดการหารือประเด็นข้อขัดแย้งทางการค้า

Highlight:

1. ผู้ว่า ธปท.ยัน กนง.พิจารณาดอกเบี้ยตามข้อมูลชี้บาทอ่อนช่วงนี้ไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจ
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลงจะลดแรงกดดันในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นี้หรือไม่ว่าปัจจัยเรื่องค่าเงินเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับตลาดการเงินที่มีความอ่อนไหวง่ายในข่าวสารต่างๆ ทั้งที่มาจากต่างประเทศและในประเทศ ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีความลำบากใจในการพิจารณาการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องล้วนเป็นคณะกรรมการที่ทรงคุณวุฒิและเกิดจากพิจารณาตามข้อมูลที่เกิดขึ้น โดยหากมีข้อสรุปออกมาในทิศทางใดย่อมมีเหตุผลในการอธิบายที่เป็นหลักสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประชุม กนง. ในวันพุธที่ 29 พ.ค. 56 นี้เป็นที่น่าติดตามของตลาดการเงินเนื่องจากจะเป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญต่อภาคธุรกิจและเอกชน รวมทั้งสะท้อนมุมมองของ กนง. ต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตอีกด้วย โดยประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบไปด้วยข้อมูลล่าสุดทั้งด้านการเงินการคลังการต่างประเทศและการผลิตตลอดจนปัจจัยต่างๆที่จะกระทบราคาสินค้า เช่น ราคาน้ำมันโลกอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศและราคาสินค้าเกษตรโลก ทั้งนี้พบว่าค่าเงินบาทล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 29.8-29.9 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากช่วงต้นเดือนที่อยู่ที่ 29.2 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ โดยนักลงทุนยังติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ เช่น ราคาบ้านยอดทำสัญญาขายบ้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนี PMI เขตชิคาโกในเดือน พ.ค.56
2. TMB ชี้ ศก. ไทยยังเผชิญความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ หลังจากเติบโตสูงมากในไตรมาสที่ผ่านมา แม้ไม่ส่งสัญญาณลบชัดเจน แต่มิได้สะท้อนว่าไร้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ลดดอกเบี้ยกันอีกครั้ง หลังสภาพัฒน์ฯ เปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกของไทยขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ อาทิ จากการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.0 และรวมถึงประมาณการของตัวแบงก์ชาติ ซึ่งประเมินไว้ว่าน่าจะเติบโตได้ถึงร้อยละ 7.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/56 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากชะลอลงของภาคอุปทานเป็นสำคัญโดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีการขยายตัวในอัตราเร่งกว่าปกติจากปัจจัยฐานต่ำ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวร้อยละ 4.8 จากไตรมาสก่อนขยายตัวในระดับที่ ร้อยละ 37.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(yoy)ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี ตามการภาคบริการที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีจากสาขาก่อสร้าง คมนาคมขนส่ง และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงจากวิกฤติหนี้สาธารณะของยูโรโซนที่คาดว่าจะยืดเยื้อ นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่ากว่าภูมิภาค อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี56ได้ ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.3 yoy โดยมีช่วงคาดการณ์ ร้อยละ 4.8 - 5.8 (โดยจะมีการปรับประมาณการณ์อีกครั้งในเดือน มิ.ย. 56)
3. จีน - อียูเล็งจัดการหารือประเด็นข้อขัดแย้งทางการค้า
  • สำนักข่าวซินหัวเปิดเผยแถลงการณ์ฉบับหนึ่งจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่านายจง ซาน รมช.พาณิชย์จีน และนายฌอง-ลุค เดอมาร์ตี้ ผู้อำนวยการด้านการค้าของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เป็นประธานร่วมกันในการหารือว่าด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างอียูและจีน เมื่อ 27 พ.ค. นี้ โดยนายจงจะหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแผงพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์สื่อสารไร้สายร่วมกับนายคาเรล เดอ กุชต์ กรรมาธิการด้านการค้าของอียู โดยเมื่อเร็วๆนี้ อียูได้เริ่มใช้มาตรการตรวจสอบด้านการค้าหลายประการที่พุ่งเป้าไปที่สินค้าจีน ซึงอียูได้สนับสนุนข้อเสนอเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 56 ในการกำหนดภาษีนำเข้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์จากจีน เพื่อป้องกันการทุ่มตลาดของผลิตภัณฑ์แผงพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนในตลาดยุโรป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงปี 55 ที่ผ่านมาอียูเป็นคู่ค้าและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของจีน โดยมีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น (นำเข้ารวมส่งออก) 5.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนความสำคัญทางการค้าระหว่างประเทศของจีน-อียู อย่างไรก็ดี ข้อขัดแย้งทางการค้าของทั้ง 2 ภูมิภาค ต่างเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเช่นกัน (โดยในจำนวนข้อกล่าวหาทางการค้า 31 รายการที่อียูกำลังดำเนินการสอบสวนอยู่นั้น เกี่ยวข้องกับจีนถึง 18 รายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ที่กลายมาเป็นปัญหาร้อนแรงมากขึ้นในเดือนนี้ หลังคณะกรรมาธิการยุโรป เห็นพ้องที่จะดำเนินมาตรการลงโทษทางภาษี ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงสุดถึงร้อยละ 47 ต่อแผงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ที่นำเข้าจากจีน ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะส่งผลบกระทบต่อยอดขายแผงพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์จีนในอียูมูลค่า 21,000 ล้านยูโร ซึ่งยอดขายนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7 ของการส่งออกมายังอียู

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ