รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 17, 2013 11:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2556

Summary:

1. ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค. 56 ฟื้นรอบ 1. 4 เดือน

2. ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 11.09 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดสหรัฐฯคง QE จนถึงสิ้นปีนี้

Highlight:

1. ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม พ.ค. 56 ฟื้นรอบ 4 เดือน
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยประจำเดือน พ.ค. 56 จำนวน 1,042 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 94.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 92.9 ในเดือน เม.ย. 56 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ตามการเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการของภาคอุตสาหกรรม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการคลายความกังวล ได้แก่ ค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง ประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการการเงิน (กนง.) ลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2.50 ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายนอกประเทศ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม
2. ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 11.09 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงยอดการผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ค. 56 อยู่ที่ 231,070 คัน เพิ่มร้อยละ 11.09 โดย 5 เดือนแรกปี 56 ยอดผลิตรวมอยู่ที่ 1.12 ล้านคัน เพิ่มร้อยละ 31.73 โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรกและตลาดส่งออกที่ขยายตัวในระดับดี ทั้งนี้ ในปี 56 คาดว่าสามารถผลิตรถยนต์ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ 2.55 ล้านคัน สำหรับประเด็นการส่งมอบรถตามโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลนั้น คาดว่าจะทยอยส่งมอบหมดภายในเดือน ต.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากสถานการน้ำท่วมคลี่คลายลงในช่วงต้นปี 55 การผลิตและการบริโภคสินค้าหมวดยานยนต์ มีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 6.7 ในปี 55 จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 เท่านั้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกปี 56 ให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นมาจากนโยบายรถยนคันแรกของรัฐบาล อย่างไรก็ดียอดการผลิตและยอดขายยานยนต์ คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงในช่วงปลายปี 56 ตามที่ ส.อ.ท. สามารถเร่งทยอยการส่งมอบหมดภายในเดือนต.ค. 56 นี้ และจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนในช่วงปลายปี 56 ชะลอลงตามไปด้วย ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนในปี 56 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 .6(โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.1 - 5.1 ประมาณการ ณ เดือน มี.ค. 56 และสศค.จะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 56 นี้)
3. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดสหรัฐฯคง QE จนถึงสิ้นปีนี้
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ให้ความเห็นในการแถลงข่าวมุมมองต่อเศรษฐกิจครั้งล่าสุดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าทางธนาคารสหรัฐฯน่าจะยังคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณโดยการเข้าซื้อพันธบัตรหรือ QE ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 56 นี้ โดยทาง IMF ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯไว้ที่ ร้อยละ 1.9 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อนหน้า แต่ได้ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2557 ลงมาอยูที่ร้อยละ 2.7 จากร้อยละ 3.0 สาเหตุจาก IMF ประเมินว่าการตัดลดงบประมาณจะมีผลทางลบในปีหน้ามากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ในคราวที่แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การถอดมาตรการ QE ออกของสหรัฐฯที่แม้จะยังไม่เกิดขึ้นจริงในปีนี้อย่างที่ IMF คาดการณ์ แต่การส่งสัญญาณโดยเฟดฯก็เพียงพอที่จะทำให้ภาคการเงินของโลกเกิดความผันผวนในทันที โดยหลังจากนายเบน เบอร์นันกี้ ประธานเฟดฯได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการถอดมาตรการดังกล่าวในช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาก็ทำให้นักลงทุนดึงเงินทุนออกจากตราสารทุนทั่วโลกไปแล้วรวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นัยยะเชิงนโยบายของไทยต่อการถอดมาตรการ QE ของสหรัฐฯคือ การจับตาดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและการสื่อสารของเฟดฯอย่างใกล้ชิด ไปพร้อมๆกับเตรียมความพร้อมในการหามาตรการรับมือกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายเพราะ มาตรการ QE เป็นสิ่งที่ผูกโยงกับความผันผวนทั้งในตลาดการเงินและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และเมื่อความแน่ชัดของการสิ้นสุดของมาตรการ QE ปรากฎ สศค. คาดว่า เงินทุนจะไหลเข้าเอเชียอีกครั้งจากการที่มีอัตราการขยายตัวในอนาคตดีกว่าสหรัฐฯ ที่ขาดแรงสนับสนุนจากสภาพคล่องจาก QE ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ