รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2013 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. TMB ฟันธงส่งออกปี 56 หลุดเป้ากสิกรไทยเห็นด้วยจากแรงกดดันเศรษฐกิจโลก

2. ธปท.เตรียมปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ต่ำกว่าร้อยละ 5.0

3. เศรษฐกิจเยอรมันส่งสัญญาณฟื้นตัว ส่งผลดีต่อทั้งภูมิภาค

Highlight:

1. TMB ฟันธงส่งออกปี 56 หลุดเป้ากสิกรไทยเห็นด้วยจากแรงกดดันเศรษฐกิจโลก
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินส่งออกของไทยปีนี้ขยายตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด หลังพบสัญญาณแผ่วลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในครึ่งปีหลัง ทำให้อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.5 ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินการส่งออกเดือน พ.ค. 56 หดตัว สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่วนแนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังยังทรงตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 พบว่าการส่งออกขยายตัวได้เพียง ร้อยละ 1.9 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคือสินค้ายานยนต์ ส่วนสินค้าประเภทเกษตร น้ำมัน และทองคำ มีการหดตัวในระดับสูง และหากพิจารณาการส่งออกรายประเทศพบว่า ประเทศออสเตรเลียเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของการขยายตัวของภาคส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ส่วนการหดตัวของการส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นแรงฉุดหลักของการส่งออกโดยรวมในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 56 จะสามารถขยายตัวได้เพียงร้อยละ 5.5 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของสหรัฐฯ อาจจะเป็นปัจจัยช่วยเศรษฐกิจโลกให้ดีมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ประกอบกับค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นภาคส่งออกของไทยได้ในช่วงที่เหลือของปี
2. ธปท.เตรียมปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 ต่ำกว่าร้อยละ 5.0
  • ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. เตรียมปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 56 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 10 ก.ค. 56 นี้ จากเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวร้อยละ 5.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสัญญาณการอุปโภคบริโภค และการลงทุนในประเทศชะลอตัว รวมทั้งการส่งออกขยายตัวน้อยกว่าที่คาด และเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ยังเอื้อต่อการใช้จ่ายในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 - 5.0 ) ชะลอลงจากร้อยละ 6.5 ในปี 55 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว ตามรายได้เกษตรกรที่หดตัวลงประกอบกับประชาชนยังมีฐานการบริโภคสูงในช่วงก่อนหน้านี้โดยเฉพาะสินค้าคงทนที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถยนต์คันแรก ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะที่ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 56 ได้แก่ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ การลงทุนตามแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 56 ตลอดจนนโยบายกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว
3. เศรษฐกิจเยอรมันส่งสัญญาณฟื้นตัว ส่งผลดีต่อทั้งภูมิภาค
  • หน่วยงานสถิติของเยอรมันเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด พบว่า ยอดค้าปลีก (ปรับเงินเฟ้อและปรับฤดูกาล) ในเดือน พ.ค. 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.4 ด้านอัตราเงินเฟ้อจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 56 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี จากร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานในเดือน มิ.ย. 56 (ปรับฤดูกาล) ก็ส่งสัญญาณไปในทางเดียวกัน โดยได้ปรับลดลง 1.2 หมื่นคน มาอยู่ที่ประมาณ 2.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 6.8 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทั้งของผู้บริโภคและภาคธุรกิจก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยในเดือน มิ.ย. 56 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 38.5 จาก 36.4 ในเดือนก่อนหน้า (ระดับมากกว่า 0 แสดงถึงการขยายตัว) และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 105.9 จาก 105.7 ในเดือนก่อนหน้า (ระดับมากกว่า 100 แสดงถึงการขยายตัว)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณดังกล่าวบ่งชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของเยอรมันหลังจากที่ต้องเผชิญการหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 55 และการเติบโตเพียงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งนี้ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในเขตยูโรโซน 17 ประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 28.8 ต่อ GDP รวมของยูโรโซนในปี 55 ) การฟื้นตัวของเยอรมันจะทำให้ประเทศในภูมิภาคได้รับประโยชน์ผ่านช่องทางการค้า เช่น ฝรั่งเศส (ส่งออกไปยังเยอรมันในปี 55 เป็นมูลค่า 65 พันล้านยูโร) อิตาลี (ส่งออก 49 พันล้านยูโร) เบลเยียม (ส่งออก 38 พันล้านยูโร) ออสเตรีย (ส่งออก 37 พันล้านยูโร) และสเปน (ส่งออก 23 พันล้านยูโร) นอกจากนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นต่อภูมิภาคยูโรโซนฟื้นตัวด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นได้จากตลาดส่งสัญญาณตอบสนองในระยะสั้นผ่านตลาดเงินตรา โดยค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อย่างไรก็ดี ในแง่ของผลกระทบต่อไทยผ่านช่องทางการค้ายังถือว่ามีผลกระทบจำกัดเนื่องจากมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเยอรมัน รวมถึงทั้งภูมิภาคยูโรโซนมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบอัตราส่วนต่อมูลค่าการค้ารวมของไทย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ