รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 19, 2013 11:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. ปตท. มุ่งลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า

2. ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตญี่ปุ่นปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

3. ประธาน Fed คงท่าทีชะลอ QE ปลายปีนี้ พร้อมเปิดช่องว่าไม่มีการกำหนดการยุติ QE ตายตัว

Highlight:

1. ปตท. มุ่งลงทุนในต่างประเทศต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า
  • บริษัท นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะจีน ทำให้ปตท. ต้องทบทวนแผนการลงทุนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ แต่บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายการเติบโตจากธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น โดยการลงทุนในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40-50 ของงบลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนการลงทุน 5 ปี (56-60) เนื่องจากขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางอีกทั้งทิศทางการใช้น้ำมันและราคาน้ำมันในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจต้องมีการปรับแผนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปตท.มีสภาพคล่องดี มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำอยู่ที่เพียง 0.4 เท่า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน แต่ภาคเอกชนไทยยังคงมีศักยภาพในการลงทุนในต่างประเทศด้วยความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยในภาพรวม การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น บ่งชี้จากมูลค่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปี 56 มีมูลค่าถึง 4.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อปรับสมดุลของเงินทุน ซึ่งละเป็นกลไกช่วยปรับสมดุลของค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนจนเกินไปในระยะต่อไป หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียเป้นจำนวนมากจนทำให้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียประสบปัญหาค่าเงินแข็งค่า
2. ความเชื่อมั่นของผู้ผลิตญี่ปุ่นปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตญี่ปุ่นในเดือน ก.ค. 56 ซึ่งจัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ อยู่ที่ +13 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2 จุด โดยผู้ผลิตกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับแรกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าดัชนีฯ ดังกล่าวจะกลับมาอยู่ในระดับ +15 จุดในช่วงเดือน ต.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความกังวลของนักลงทุนสอดคล้องกับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยล่าสุด GDP จีนในไตรมาสที่ 2 ปี 56 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 โดยการส่งออกของญี่ปุ่นไปจีนคิดเป็นร้อยละ 18.1 ของการส่งออกของญี่ปุ่นทั้งหมด (สัดส่วนปี 55) ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาภาคการส่งออกโดยรวมของญี่ปุ่นยังคงขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 56 มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 3.5 แต่การส่งออกไปยังจีนกลับหดตัวถึงร้อยละ -1.7 สะท้อนให้เห็นว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนอาจเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 นี้จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 56)
3. ประธาน Fed คงท่าทีชะลอ QE ปลายปีนี้ พร้อมเปิดช่องว่าไม่มีการกำหนดการยุติ QE ตายตัว
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เปิดเผยวานนี้ว่า แม้ Fed จะยังคาดว่าจะชะลอมาตรการ QE ผ่านการลดวงเงินซื้อพันธบัตรในช่วงปลายปี 56 และยุติมาตรการในปี 57 หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ Fed ยังมิได้กำหนดเวลาดังกล่าวที่ตายตัว และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและการเงิน อีกทั้ง Fed พร้อมที่จะขยายเวลามาตรการ หากมีความจำเป็นเพื่อสนับสนุนการจ้างงานและรักษาเสถียรภาพราคา
  • สศค .วิเคราะห์ว่า แม้ว่า Fed ได้ผ่อนคลายท่าทีที่จะยุติมาตรการ QE ในปลายปีหน้า โดยเน้นย้ำว่า ไม่ได้มีการกำหนดเวลา (Preset Course) ล่วงหน้าตายตัวในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้ยังคงมีแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับต่ำต่อไป เป็นปัจจัยบวกต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภาคอสังหาริมทรัพย์และการฟื้นตัวของตลาดสินเชื่อและจำนอง (Mortgage) รวมทั้งผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนต่อความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดในภูมิภาคเอเชียลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะยังคงคาดหมายว่าจะมีการเริ่มชะลอมาตรการ QE ในปลายปีนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการจ้างงาน ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 56 การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงกว่า 1.2 ล้านตำแหน่ง อีกทั้งมีแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้อัตราการว่างงาน ณ เดือน มิ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มมีสัญญาณเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนในเดือน มิ.ย. 56 บ่งชี้อุปสงค์ภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ดังนั้น เพื่อเป็นการระมัดระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะผลกระทบผ่านช่องทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน จึงยังคงต้องจับตามองท่าทีของ Fed อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 30-31 ก.ค. 56 นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ