รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2013 10:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2556

Summary:

1. หอการค้าแนะรัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยว - การค้าชายแดน

2. ครม. เห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 7 ขั้น เพื่อกระจายภาระภาษีให้เท่าเทียมกัน

3. ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 56 ของญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -3.3

Highlight:

1. หอการค้าแนะรัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยว - การค้าชายแดน
  • รองประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีแรกและแนวโน้มครึ่งปีหลัง 56 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยหากพิจารณาเศรษฐกิจรายภาค พบว่าภาพรวมทุกภาคมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นภาคตะวันออกที่ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ขยายตัวต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรก 56 มูลค่าการค้าชายแดนของภาคตะวันออกขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี ทั้งนี้ จึงได้เสนอแนะให้รัฐบาลส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนอย่างจริงจัง เนื่องจากเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านยังเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง 56 จะเติบโตได้ร้อยละ 4 สอดคล้องกับหลายหน่วยงานที่ปรับลดเป้าหมาย GDP ลงมาต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุด ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 56 มีสัญญาณชะลอลงทั้งจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ปี 56 หดตัวร้อยละ -5.2 สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออก ที่หดตัวร้อยละ -2.2 จากการส่งออกไปยังประเทศ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกไปยังกลุ่มอินโดจีน (สัดส่วนร้อยละ 7.5 ของตลาดส่งออกทั้งหมด) ยังคงมีศักยภาพขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 10 ต่อปี โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี โดยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 21.3 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าหากสถานการณ์ปกติทั้งปี 56 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 26.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 18.0 ต่อปี และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศ 1.19 ล้านล้านบาท และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะสามารถขยายตัวได้ในช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 - 5.0 (ณ เดือน มิ.ย. 56)
2. ครม.เห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 7 ขั้น เพื่อกระจายภาระภาษีให้เท่าเทียมกัน
  • คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 56 เห็นชอบให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ตามมาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจต่อรัฐสภา โดยให้ปรับปรุงขั้นและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น และลดอัตราสูงสุดจากร้อยละ 37 เป็นร้อยละ 35 เพื่อกระจายภาระภาษีให้เท่าเทียมกันมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว เป็นมาตรการที่กำหนดให้สอคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก โดยจะเป็นการลดภาระภาษีและสร้างความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ให้มากยิ่งขึ้นรวมทั้งเป็นการปิดช่องโหว่ของการหลีกเลี่ยงภาะภาษีเงินได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรในปีงบประมาณ 56 ประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่จะทำให้รายได้สุทธิของผู้เสียภาษีมากขึ้น อันจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไป รวมทั้งทำให้อัตราภาษีของไทยเป็นที่จูงใจ และแข่งขันกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิหลังการจัดสรรให้ อปท. ได้เท่ากับ 1,616.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าประมาณการ 82.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 5.3 โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ 233.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าประมาณการ 23.0 พันล้านบาท หรือร้อยละ 10.9
3. ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 56 ของญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -3.3
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 56 ของญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -3.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวร้อยละ -1.7 ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือน มิ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีการคาดหวังว่าน่าจะเพิ่มขึ้น หลังจากข้อมูลก่อนหน้านี้ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เป็นประเด็นความท้าทายที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเผชิญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในขณะนี้คือ แม้ว่ารัฐบาลจะได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Abenomics ) โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ได้ส่งผลทำให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นปรับตัวอ่อนค่าลงและส่งผลดีต่อภาคการส่งออก สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ภาคการผลิตในเดือนล่าสุดของญี่ปุ่นกลับมีสัญญาณการหดตัวโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศในเดือน มิ.ย. 56 ก็เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดี สะท้อนจากการใช้จ่ายของครัวเรือนหดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 44.6 จุด ลดลงจากระดับ 46.0 จุด ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ลดลงเนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ บ่งชี้ถึงระดับรายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่ลดลงโดยเปรียบเทียบทั้งนี้ สิ่งที่จะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่จะต้องติดตามต่อไปคือ นโยบาย Abenomics ของรัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนการลงทุนในประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในอนาคตต่อไปหรือไม่ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ