รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 31, 2013 11:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2556

Summary:

1. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ทิศทางอนาคต SMEs ไทย

2. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารไทยพาณิชย์เตือนเกษตรกรปรับตัวราคายางพาราไม่สูงอย่างในอดีต

3. ส่งออกเอเชียยังทรงตัว แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้น

Highlight:

1. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ทิศทางอนาคต SMEs ไทย
  • ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ "นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมกับการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs" ให้กับนักบริหาร SMEs ในการปิดการอบรมหลักสูตรนักบริหาร SMEs ระดับสูง (SMEs Advance ) ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ SMEs ของ สสว.ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในระยะ 20 ปีข้างหน้า เป็นไปตามกรอบแผนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกลุ่มประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยในระดับปานกลาง ก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดความเสมอภาคเป็นมิตรและไม่สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อม โดยทางภาครัฐได้ปรับกระบวนการด้านต่างๆโดยบูรณาการส่งเสริมให้เอกชนเติบโตและอยู่รอดต่อไปได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันในเดือนก.ย. 56 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศจำนวน 5,622 ราย และเพิ่มขึ้น 150 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนก.ย. 55 ซึ่งมีจำนวน 5,472 ราย ทั้งนี้ จำนวนที่ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการทางภาษีที่มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 23 ในปี 55 และร้อยละ 20 ในปี 56 ทั้งนี้ รัฐบาลมียุทธศาสตร์ประเทศ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งธุรกิจ SMEs เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ 1) พัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการ SMEs 2) พัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการตลาดสินค้าและบริการจังหวัด (One Tambon One Product: OTOP) และ 3) การวิจัยและพัฒนา (R&D)
2. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารไทยพาณิชย์เตือนเกษตรกรปรับตัวราคายางพาราไม่สูงอย่างในอดีต
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจีนในฐานะผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลกได้มีนโยบายขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งคาดว่าผลผลิตยางพาราของจีนจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนปรับตัวลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่อาจทำให้บทบาทของไทยในการเป็น supplier หลักในตลาดโลกลดความสำคัญลง พร้อมทั้งยังทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่กรีดยางพาราประมาณ 15.1 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น1.3 ล้านไร่จากปีก่อน หรือร้อยละ 9.6 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 (ม.ค. - ก.ย. 56) ประเทศไทยส่งออกยางพาราจำนวน 2,371.3 พันเมตริกตัน เป็นเงิน 176.1 พันล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ -15.0 จากช่วงเดียงกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกไปยังประเทศจีนจำนวน 947.3 พันเมตริกตันเป็นเงิน 74.1 พันล้านบาทหรือร้อยละ 42.1ของมูลค่าการส่งออกยางพารารวม ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียงกันของปีก่อน แม้ว่าปัจจุบันจีนจะมีนโยบายการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพารา อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปต้นยางจะเปิดกรีดได้เมื่ออายุประมาณ 7.5 ปี ขนาดเส้นรอบต้นไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร หรือความสูง 150 เซนติเมตรจากพื้นดิน ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกยางพาราเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประสิทธิภาพในการปลูกยางพาราของไทยลดลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดในปี 56 เท่ากับ 255 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงร้อยละ -3.0 จากปีก่อน
3. ส่งออกเอเชียยังทรงตัว แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้น
  • การส่งออกของเอเชีย 7 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 3.1 ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์เริ่มกังวลถึงแรงส่งของเศรษฐกิจเอเชียในช่วงต่อไป โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เริ่มลด QE ในปีหน้า และทำให้เอเชียต้องหันมาพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศมากขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัว ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกใน GDP ของเอเชียสูงถึงกว่า 1/3 ซึ่งถือว่าแผ่วลงมาตลอดภายหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่การส่งออกขยายตัวได้สูงขึ้น และยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับไปขยายตัวได้ 2 หลักในเร็ววันนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของหลายประเทศในเอเชียมีทิศทางการขยายตัวที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบางโดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของหลายประเทศในเอเชีย โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย. 56 ของไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน หดตัวร้อยละ -7.0 -1.5 และ -0.4 ตามลำดับ ขณะที่ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 11.5 ซี่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงจากต้นปี 56 ถึงร้อยละ 13.3 สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ก.ย. 56 พบว่า หดตัวถึงร้อยละ -7.1 ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.05 อย่างไรก็ดี แนวโน้มอุปสงค์ของตลาดโลกในขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดสำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 56 คือ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งจากไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ-3.5 และ -5.2 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนหดตัวลดลงที่ร้อยละ -0.3 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -13.4 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจโลกในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ