รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 11, 2013 12:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556

Summary:

1. เขมรแห่ซื้อสินค้าช่องสะงำคึกคัก

2. ธปท. ยอมรับค่าเงินบาทยังผันผวนต่อเนื่องในทิศทางอ่อนค่าแนะเอกชนระมัดระวัง

3. Standard & Poor's หั่นเครดิตฝรั่งเศสลงเหลือ AA

Highlight:

1. เขมรแห่ซื้อสินค้าช่องสะงำคึกคัก
  • นายหัตถชัย เพ็งแจ่ม ประธานผู้ประกอบการค้าการท่องเที่ยวช่องสะงำกล่าวว่า ผู้ประกอบการทราบสถานการณ์ล่วงหน้ามานานแล้ว และที่ผ่านมามีการพูดคุยกันมาตลอดเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ความเป็นไปได้ในฐานะผู้ประกอบการมองว่าไม่น่าจะมีการตัดสินให้เลวร้าย เพราะว่าพ่อค้าแม่ค้าซื้อขายกันอยู่ ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็มีการสั่งซื้อหาสินค้ากันอยู่ เชื่อไม่มีผลกระทบกระเทือนสำหรับผู้ประกอบการใหญ่ สำหรับประชาชนประเทศกัมพูชาที่ต้องประสบปัญหาภัยสงครามมาตลอดจึงทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ด่านช่องสะงำเป็นด่านถาวร จึงต้องการให้เป็นเส้นทางการเจรจาการค้าการขายซึ่งกันและกัน และให้มีการไปมาหาสู่กันตลอด จึงอยากฝากให้ประชาชนทั้งสองประเทศไม่ต้องวิตกกังวล ข่าวที่ออกมาเป็นการเตรียมทำความเข้าใจ แต่หากมีเหตุการณ์ร้ายแรงก็หาทางพูดคุยกันเจรจากันได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลตัดสินคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทเขาพระวิหารนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาหากมีการยุติการค้าขายระหว่างกัน ทั้งนี้ การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 มีมูลค่า 69.1 พันล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกชายแดนจำนวน 62.2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.1 ของมูลค่าการส่งออกชายแดนรวม และคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.3 โดยสินค้าส่งออกชายแดนที่ขยายตัวได้ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ และเครื่องสำอางประเภทเครื่องหอมและสบู่ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าชายแดนมีมูลค่าอยู่ที่ 6.8 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของมูลค่าการนำเข้าชายแดนรวม และคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 29.3 โดยสินค้านำเข้าชายแดนที่ขยายตัวได้ดี 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกลอื่นๆและส่วนประกอบ ลวดและสายเคเบิลที่หุ้มฉนวน และเครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ติดตั้ง โดยปัจจุบันไทยเกินดุลการค้ากับกัมพูชา 55.4 พันล้านบาท
2. ธปท. ยอมรับค่าเงินบาทยังผันผวนต่อเนื่องในทิศทางอ่อนค่าแนะเอกชนระมัดระวัง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าทิศทางค่าเงินบาทยังมีความผันผวน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่านั้นเกิดจากการที่สหรัฐฯ จะทยอยลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE ส่งผลให้เงินสกุลคู่ค้ากับสหรัฐฯ อ่อนค่าลง และคาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าจนกว่าการทยอยลดขนาด QE จะยุติ ประกอบกับในช่วงนี้ยังมีปัจจัยการเมืองในประเทศเข้ามากดดันทั้งตลาดการเงินและตลาดหุ้น ยิ่งกระทบให้บาทอ่อนค่าลง ดังนั้น ผู้ประกอบการและภาคเอกชนยังต้องใช้ความระมัดระวัง และควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่มีอยู่ในระบบในการดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาทในระยะนี้ ได้แก่ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะประเทศแถบฝั่งตะวันตก อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศแถบตะวันออก โดยเฉพาะจีนและภูมิภาคอาเซียน มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และ 2. ปัจจัยการเมืองในประเทศที่จะส่งผลให้ตลาดการเงินและตลาดทุนมีความผันผวนในระยะสั้น ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 8 พ.ย. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.77 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เยนญี่ปุ่น ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์
3. Standard & Poor's หั่นเครดิตฝรั่งเศสลงเหลือ AA
  • หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor's (S&P) ทำการเปิดเผยผลการจัดอันดับล่าสุดของประเทศฝรั่งเศส มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของยุโรป โดย S&P ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือลง 1 ขั้นจากเดิม AA+ มาอยู่ที่ระดับ AA ซึ่งถือเป็นระดับ "มีเสถียรภาพ" (Stable) การปรับลดครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองโดยก่อนหน้านี้ฝรั่งเศสได้ถูก S&P ปรับลดมาแล้วในช่วงต้นปี 55 จากระดับดีที่สุดคือ AAA ทั้งนี้ S&P ให้เหตุผลว่าฝรั่งเศสจะยังมีความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาทางการคลังและกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากความฝืดเคือง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสจะสามารถพลิกฟื้นมาเติบโตเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้หลังจากติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส พร้อมกับความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี แต่เมื่อพิจารณาด้านเสถียรภาพจะพบว่า สัญญาณการฟื้นตัวดังกล่าวเป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถาม เนื่องจากหนี้สาธารณะที่สูงถึงร้อยละ 90.2 ในปี 55 และสัดส่วนดังกล่าวมีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.9 ในปี 51 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้อัตราการว่างงานล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ก็ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ระดับร้อยละ 10.9 สะท้อนว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสยังคงมีปัญหา การฟื้นตัวที่เห็นจึงอาจจะเป็นไปอย่างเปราะบาง จึงเป็นเหตุอันนำไปสู่การลดลงของความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี การตอบรับจากตลาดระยะสั้นสะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงในตลาดพันธบัตรต่อการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ไม่ได้มีสัญญาณของความตื่นตระหนกแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า แม้ฝรั่งเศสจะถูกปรับลดแต่สถานะทางเศรษฐกิจก็ยังอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงสูง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ