รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 4, 2013 11:32 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดผักและผลไม้ เนื่องจากฝนตกชุกในหลายพื้นที่ทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 10 เดือนแรกปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 สะท้อนถึงเสถียรภาพด้านราคาที่ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตร้อยละ 5.7 (เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตบล็อค) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ทรายหิน และลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง หมวดซีเมนต์ ร้อยละ 8.6 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ร้อยละ 1.9 (ทราย หินย่อย ดินถมที่)เนื่องจากแหล่งผลิตหายากส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในช่วง 10 เดือนแรกปี 56 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.ย. 56 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจาก 1) อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ตามราคาทองคำในตลาดโลกที่ผันผวนและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง โดยส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากอินเดียซึ่งเป็นประเทศนำเข้าทองรายใหญ่อันดับต้นของโลกออกมาตรการลดการนำเข้าทอง 2) อุตสาหกรรมอาหาร จากโรคตายด่วนระบาดในกุ้งและราคาปลาทูน่าที่มีความผันผวนสูง และ 3) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอการผลิตเนื่องจากมีการเร่งการผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้าตามโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องแต่งกาย อิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบ (%mom) พบว่าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -3.3 ส่งผลให้ไตรมาส 3 ของปี 56 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -3.6
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ย. 56 ขาดดุล -534.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 1,284.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 2,561.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการหดตัวของทั้งการนำเข้าและส่งออก ผลจากปัจจัยฐานสูง ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกแผงวงจรรวม ยานยนต์ และน้ำตาลขยายตัวดี ขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล -3,095.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 56 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล -6,057.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 21.0 จากกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ตามการเพิ่มขึ้นของยอดขายเหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 62.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 23.6 ต่อปี เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 13.5) ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี และลวดเหล็กแรงดึงสูง (น้ำหนักร้อยละ 6.2) ที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 ต่อปี เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 9 เดือนแรกปี 56 ขยายตัวร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน ก.ย. 56 มีมูลค่า 19,303.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -6.3 จากการหดตัวของสินค้าอุตสาหกรรมที่ร้อยละ -8.5 ลดลงจากการขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ในเดือนก่อนหน้า ตามการหดตัวของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร้อยละ -1.9 และสินค้ายานยนต์ที่ขยายตัวชะลอลงเหลือเพียงร้อยละ 6.9 รวมถึงการหดตัวของสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่ร้อยละ -12.3 ในขณะที่สินค้าเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 4.4 และ 1.0 หลังจากหดตัวติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน และ 7 เดือน ตามลำดับ นอกจากนี้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 56 หดตัวที่ร้อยละ -1.7 ทั้งนี้ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -0.9 และปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -6.2
  • การนำเข้าในเดือน ก.ย. 56 มีมูลค่า 18,830.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าทีหดตัวร้อยละ -2.1 จากการหดตัวในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้ายานยนต์ที่ร้อยละ -5.8 -12.4 และ -17.1 ตามลำดับ ประกอบกับสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.7 ในขณะที่สินค้าวัตถุดิบกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง ที่ร้อยละ 0.7 ส่งผลให้การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 56 หดตัวที่ร้อยละ -2.0 ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -1.9 และปริมาณการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.4 จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 56 เกินดุล 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อเดือน ก.ย. 56 ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.5 โดยหากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่าสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 0.4 และร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ตามลำดับ ทั้งนี้ ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงขยายตัวอย่างเปราะบาง และความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 56 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อน จากเงินฝากของทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะเฉพาะกิจที่ชะลอลง ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) เงินฝากสถาบันการเงินขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.2 ส่วนหนึ่งจากการที่สถาบันการเงินต่างๆยังคงระดมเงินฝากต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงปลายที่การจับจ่ายใช้สอยจากครัวเรือนมีทิศทางเพิ่มขึ้น รวมถึงการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากอุปสงค์จากนอกประเทศที่ชะลอลง กอปรกับอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับปกติมาก รวมถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายที่คาดว่าจะผันผวนต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบริหารจัดการสภาพคล่องของสถาบันการเงินในอนาคต
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ต.ค. 56 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -12.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่เริ่มหดตัวเกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ และภาคเหนือ ตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

Global Economic Indicators: This Week

Us: worsening economic trend
  • US ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว จะหดตัวร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อน โดยยอดขายรถยนต์ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับยอดขายอุปกรณ์ก่อสร้างที่ยังขยายตัวดี ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกที่หักยานยนต์แล้วขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 71.2 ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 80.2 จุด และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ผลจากการปิดทำการบางส่วนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ และความกังวลเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองประเด็นเพดานหนี้ วันที่ 30 ต.ค. 56 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติคงการดำเนินนโยบาย QE ต่อไป
China: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 โดย NBS อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 51.1 จุด ในเดือนก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 18 เดือนสอดคล้องกับ ดัชนีฯ โดย HSBC อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.2 จุด ในเดือนก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
Japan: improving economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อน จากการผลิตสินค้าทุกหมวดที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นสินค้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์สำนักงานที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 54.2 จุด นับเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงร้อยละ 0-0.1 ต่อปี
Eurozone: worsening economic trend
  • อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 56 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.2 ของกำลังแรงงานรวม โดยเฉพาะ กรีซ และสเปน ซึ่งการว่างงานมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 25 บ่งชี้อุปสงค์ภายในที่ยังคงซบเซา อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ลดลง เป็นสำคัญ
South Korea: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -1.5 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหลังจากที่หดตัวร้อยละ -3.6 ในเดือนก่อนหน้าทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) เกินดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบสำคัญจากการหยุดงานประท้วงของแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ทั้งฮุนไดและเกีย อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 ทรงตัวที่ระดับร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
Indonesia: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 56 หดตัวร้อยละ -6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลงเป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 56 กลับไปขาดดุลการค้าอีกครั้งที่ 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากในเดือน ส.ค. 56 เกินดุล 132.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 48.5 จุด กลับสู่ระดับเกิน 50 จุด ส่งสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 8.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.4
Singapore: improving economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.0 จากการผลิตสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 20.0 ส่วนอัตราว่างงงาน ไตรมาสที่ 3 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.1 เนื่องจากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
Malaysia : mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.9 ผลจากค่าใช้จ่ายหมวดขนส่งขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.6
Vietnam: improving economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 13.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 17.9 ขณะเดียวกันมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ต. 56 ขยายตัวร้อยละ 17.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 21.1 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกและนำเข้าขยายตัวชะลอลงเนื่องจากเวียดนามมีนโยบายลดการส่งออกและการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง สงวนทรัพยากรน้ำมันไว้เพื่อใช้ภายในประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกน้ำมันที่หดตัวร้อยละ -15.7 เช่นเดียวกับตัวเลขการนำเข้าน้ำมันที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -14.7 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 เกินดุล 11.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
India : mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 คงตัวที่ระดับ 49.6 จุด เท่ากับเดือนก่อนหน้า วันที่ 29 ต.ค. 56 ธนาคารกลางอินเดียมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.75 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ในเดือน ก.ย. 56 ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็น ร้อยละ 7.50 ต่อปี เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
Taiwan: worsening economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้นับถึงสิ้นไตรมาส 3 ปี 56 เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 1.9 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 53.0 จุด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.0 จุด
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ค่อนข้างทรงตัวในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 31 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,442.88 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เบาบางเพียง 31,130 ล้านบาท ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ ผลจากความกังวลในประเด็นการเมือง ถึงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 56 ว่าจะยังคงดำเนินมาตรการ QE ต่อไปซึ่งส่งผลบวกต่อหลักทรัพย์ทั่วโลกก็ตาม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 - 31 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -1,054.11 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อย 1-2 bps ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลางปรับตัวสูงขึ้น 1-10 bps ตามทิศทางของ US Treasury ภายหลัง Fed คงมาตรการ QE ตามคาด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 - 31 ต.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ -2,337.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทคงที่ โดย ณ วันที่ 31 ต.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.63 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 31 ต.ค. 56 ปิดที่ 1,323.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,351.59 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ