รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23 - 27 ธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 2, 2014 14:00 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. 56 ลดลงร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพ.ย. 56 ของปีงบประมาณ 57 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 255.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 56 พบว่า ขาดดุลงบประมาณจำนวน -105.0 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนพ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -48.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -24.8
  • การส่งออกในเดือน พ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -8.6
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 56 หดตัวที่ร้อยละ -10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 3 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า
  • GDP เวียดนาม ไตรมาสที่ 4 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                               Forecast           Previous
Dec:  Headline Inflation (%YoY)             2.1                1.9

โดยราคาสินค้าหมวดขนส่งคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลของนโยบายการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ ค่า FT และราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.5 (mom)

Economic Indicators: This Week

  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. 56 ได้จำนวน 165.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม.0.8 พันล้านบาท หรือร้อยละ -0.5 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้สิทธิยื่นชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ตของภาษีเงินได้จากผลประกอบการครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในเดือนถัดไป และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -7.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -15.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าที่ชะลอลง ซึ่งสอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -15.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ(หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค.-พ.ย. 56) ได้จำนวน 343.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าประมาณการตามเอกสาร งปม.10.5 พันล้านบาท หรือร้อยละ 3.1
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพ.ย. 56 มีมูลค่า 54.5 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -8.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -16.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.8 สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 บ่งชี้ถึงแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่สุดท้ายของปี 56 ส่งสัญญาณชะลอตัว ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 56 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ดินก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ต.ค.ราคาที่ดินเปล่าขยายตัวถึงร้อยละ 9.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ถือได้ว่าปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 56 โดยความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ขณะที่ด้านผู้ประกอบการมีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มขึ้น
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพ.ย. 56 อยู่ที่ 40,439 คัน หรือหดตัวร้อยละ -48.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -42.0 สาเหตุหลักมาจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่หมดลงในช่วงปลายปี 55 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย.56 อยู่ที่ 53,044 หรือหดตัวร้อยละ –24.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -33.3 ตามการลดลงของยอดขายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -24.3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -35.7 เนื่องจากมีการเร่งผลิตและส่งมอบไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้ปัจจัยฐานเร่งสูงมากในช่วงปลายปี 55 ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 56 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวที่ร้อยละ -7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพ.ย. 56 ของปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 255.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี โดยในเดือนพ.ย. 56 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 232.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -14.1 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 227.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.9 (2) รายจ่ายลงทุน 4.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -90.0 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนกระทรวงศึกษาธิการ 29.2 พันล้านบาท เงินอุดหนุนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 19.2 พันล้านบาท และรายจ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 18.6 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 23.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -19.9 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 57 ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงปม. เบิกจ่ายได้ 476.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 18.9 ของวงเงินงปม.
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 56พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -105.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -3.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนฯ ที่เหลื่อมจ่ายจากปีงบประมาณ 56 จำนวน 9.7 พันล้านบาท การไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิจำนวน 6.2 พันล้านบาท และรายรับจากการชดใช้เงินคงคลังจำนวน 13.4 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -108.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 57 งบประมาณขาดดุลจำนวน -183.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -26.8 พันล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -210.5 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ 410.4 พันล้านบาท
  • การส่งออกในเดือน พ.ย. 56 มีมูลค่า 18,757.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.7 (และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -0.8) จากการหดตัวของสินค้าอุตสาหกรรมที่ร้อยละ -4.8 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.2 ตามการหดตัวของสินค้ายานยนต์ที่ร้อยละ -1.7 ขณะที่สินค้าเกษตรกรรมหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -4.3 อย่างไรก็ตามสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.3 และ 0.3 ตามลำดับ รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวร้อยละ -0.7 และปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -2.8 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 56 หดตัวที่ร้อยละ -0.5
  • การนำเข้าในเดือน พ.ย. 56 มีมูลค่า 19,314.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.4 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -4.2 และ -18.2 ตามลำดับ ประกอบกับสินค้ายานยนต์ที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -30.7 ในขณะที่สินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 16.3 ทั้งนี้ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -1.9 และปริมาณการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.2 จากการที่มูลค่าการส่งออกต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ย. 56 ขาดดุล -0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ย. 56 หดตัวที่ร้อยละ -10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยลบจาก อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องประดับ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่เครื่องแต่งกาย ยางและพลาสติค และ น้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบ (%mom_sa) พบว่าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -0.8
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 โดยราคาสินค้าหมวดขนส่งคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่างคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลของนโยบายการปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ ค่า FT และราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.5 (mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 56 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้า หรือร้อยละ 4.1 จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดเป็นอัตราทั้งปี (saar) ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่ประกาศก่อนหน้านี้ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่การลงทุนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.9 ทั้งนี้ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 56 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.6 ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปีที่ 1.09 ล้านหลัง (annual rate และขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 22.7 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี ในขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้าง เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 1.01 ล้านหน่วย (annual rate และขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.1 หลังจากที่ขยายตัวมากในเดือนก่อนหน้า
Japan: improving economic trend
  • อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 56 ทรงตัวต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกันที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกเร่งขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคการผลิตในญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการผลิตสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้า และอุปกรณ์การสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 56 ปรับเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นสำคัญ สะท้อนปัญหาเงินฝืดภายในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
Taiwan: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 56 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยการผลิตในภาคเหมืองแร่หดตัวลงเป็นสำคัญ อัตราว่างงาน เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.17 ในเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่ร้อยละ 4.19 ในเดือน ส.ค. 56 โดยมีผู้ว่างงานในเดือน พ.ย. 56 จำนวนทั้งสิ้น 478,000 คน ลดลง 9,000 คน จากเดือนก่อนหน้า
Singapore: improving economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.3 จากการผลิตสินค้าในหมวดเคมีและเวชสำอางที่หดตัวร้อยละ -2.7 และ -2.1 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2. 6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.0 จากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.9
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 56 หดตัวร้อยละ -8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยล 7.2 จากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -7.3 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ต.ค. 56 เกินดุล 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Vietnam: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 5.4 ทั้งนี้ เป็นผลจากการผลิตในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.7 5.4 และ 6.6 ตามลำดับ โดยสรุปเศรษฐกิจเวียดนามในปี 56 ขยายตัวร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากปี 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 15.9 จากการส่งออกเมล็ดกาแฟที่หดตัวมากถึงร้อยละ -10.7 จากสาเหตุ 2 ประการ คือ 1) ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกตกต่ำเป็นอย่างมาก ผู้ส่งออกบางส่วนจึงชะลอการส่งออกเพื่อรอให้ราคาเมล็ดกาแฟสูงขึ้น และ 2) เหตุอุทกภัยทางตอนใต้ของเวียดนามที่เป็นแหล่งผลิตกาแฟ ทำให้ผลผลิตเมล็ดกาแฟลดลง มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 16.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 จากการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 30.2 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ธ.ค. 56 เกินดุล 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.8 จากราคาอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 2.0
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยหากพิจารณาในหมวดย่อย ราคาสินค้าในหมวดสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าและน้ำ รวมทั้งหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สินค้าในหมวดอาหาร หมวดที่อยู่อาศัย หมวดการคมนาคม ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 26 ธ.ค. 56 ปิดที่ 1,308.46 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพียง 22,467 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนรายย่อยในประเทศ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ แต่มีปริมาณการซื้อขายเบาบางเนื่องจากใกล้เทศกาลวันหยุด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 23 – 26 ธ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -988.16 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับตัวลดลง 1-8 bps โดยยังคงมีปริมาณการซื้อขายเบาบาง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 – 12 ธ.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 1,165.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 26 ธ.ค. 56 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -1.17 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า หลังจากที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์ก่อน โดยเป็นทิศทางเดียวกับค่าเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย ดอลลาร์สิงคโปร์ และเงินหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.98 จากปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 26 ธ.ค. 56 ปิดที่ 1,210.30 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,198.61 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ