รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 มีนาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 31, 2014 12:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2557

Summary:

1. Motor Show 2014 เริ่ม 26 มี.ค. - 6 เม.ย. 57

2. กสิกรไทย คาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.0 - 8.0

3. ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐปิดสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์

Highlight:

1. Motor Show 2014 เริ่ม 26 มี.ค. - 6 เม.ย. 57
  • งานมหกรรมยานยนต์ มอเตอร์โชว์ 2014 ครั้งที่ 35 (The 35th Bangkok International MOTOR SHOW) จะจัดขึ้นตั้งแต่ 26 มี.ค. - 6 เม.ย. 57 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด "Beauty in the Drive" หรือ "ยานยนต์สะกดใจ" โดยหลายค่ายรถยนต์มีการส่งมอบรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาแสดง อาทิ แอสตัน มาร์ติน แบงค็อก เปิดตัว "Q by ASTON MARTIN" ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าระดับไฮเอนด์ พร้อมขนทัพยนตรกรรมเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ แวนควิช, แรพพิด เอส ดีบี 9 แวนเทจ วี 8 เอส, และแวนเทจ วี 8 โรดสเตอร์ รวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า งานมหกรรมยานยนต์ มอเตอร์โชว์ 2014 จะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 ยอดผลิตรถยนต์อยู่ที่ 3.4 แสนคัน ลดลงร้อยละ 27.8 แบ่งเป็นยอดจำหน่ายภายในประเทศ 1.4 แสนคัน (ลดลงร้อยละ 45.2) เนื่องจากตลาดได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังนโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลง ประกอบกับกำลังซื้อของประชาชนลดลงเช่นเดียวกันตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง โดยสภาอุตสาหกรรม คาดว่า เป้ายอดผลิตรถยนต์ในปี 57 อยู่ที่ 2.4 ล้านคัน ลดลงร้อยละ 2.3 ต่อปี แบ่งเป็นผลิตเพื่อขายภายในประเทศ 1.2 ล้านคัน (ลดลงร้อยละ 10.6) และผลิตเพื่อส่งออก 1.2 ล้านคัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0) ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าของสภาอุตสาหกรรม ยอดผลิตและยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศเฉลี่ยจะต้องมีอย่างน้อย 2.1 และ 1.1 แสนคันต่อเดือน สำหรับช่วง 10 เดือนที่เหลือของปี 57
2. กสิกรไทย คาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยปี 57 ขยายตัวร้อยละ 5.0 - 8.0
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยปี 2557 มีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 1,300-1,340 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 5.0-8.0 โดยได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งในการเจาะตลาดญี่ปุ่น และตลาดรองที่ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อภาคการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนและกลุ่มประเทศเกิดใหม่อย่าง BRICS ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยในปี 57 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 56 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากตลาดหลักในการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่สำคัญ ได้แก่ประเทศในกลุ่ม G3 โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศกลุ่มอาเซียนยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งหากการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ในปี 57 ขยายตัวได้ดี จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยโดยรวม โดยสศค. คาดว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการของไทยในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 - 5.4)
3. ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐปิดสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์
  • ตลาดน้ำมันดิบล่วงหน้าสหรัฐฯ (ส่งมอบเดือน พ.ค. 57) ทำการซื้อขายกันที่ระดับ 101.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกกรณีความขัดแย้งในยูเครน รวมไปถึงปัญหาด้านอุปทานในลิเบียและไนจีเรีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ได้ขยายตัวเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศในช่วงต้นปี 2557 เป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันราคาพลังงานในขณะนี้ จะเห็นได้ชัดว่าในช่วงที่มีการปะทะหรือช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องจะนำไปสู่ความผันผวนของราคาน้ำมันทันที เช่น การออกกฎหมายห้ามการประท้วง (16 ม.ค.) การปะทะบนท้องถนน (20 ม.ค. และ 18 ก.พ.) การลาออกของนายกรัฐมนตรี (28 ม.ค.) หรือการเคลื่อนพลของกองกำลังจากรัสเซียเข้าพื้นที่ขัดแย้ง (3 มี.ค.) อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานจะพบว่าความต้องการใช้พลังงานจะมีการเติบโตที่น้อยกว่ากำลังการผลิตพลังงานโลกในระยะกลาง-ยาว ส่งผลให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดต่ำลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้จะทรงตัวอยู่ที่ 105.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปีก่อนหน้า (เช่นเดียวกันกับราคาในสหรัฐฯ หาก spread ระหว่าง 3 ประเภทน้ำมันคงที่) สอดคล้องกันกับการคาดการณ์ของ ปตท. และ ธปท. ดังนั้น หากเหตุการณ์ในยูเครนมีความคลี่คลายในเวลาอันสั้น หรือเข้าสู่กระบวนการทางการทูตแทนที่จะเป็นกำลังทหารราคาน้ำมันจะกลับเข้าสู่ขาลงตามปัจจัยพื้นฐาน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ