รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 10, 2014 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 เมษายน 2557

Summary:

1. IMF ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 57 เหลือโตที่ร้อยละ 2.5 ต่ำสุดในอาเซียน

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่ำสุดในรอบ 27 เดือน

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง

Highlight:

1. IMF ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 57 เหลือโตที่ร้อยละ 2.5 ต่ำสุดในอาเซียน
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในรายงานฉบับล่าสุด โดยระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยรวม จะขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปี 57 ซึ่งลดลงร้อยละ 0.2 จากที่คาดไว้ในเดือน ม.ค. 57 ส่วนจีดีพีในปีนี้ของไทย อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.5 ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ IMF ยังระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มเติบโตอย่างเชื่องช้ากว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในต่างประเทศก็ส่งผลกระทบด้วย และอาจเผชิญปัญหาเงินไหลออก จากมาตรการลดคิวอีของสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 57 ส่งสัญญาณชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี ตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอันยืดเยื้อมาจากช่วงปลายปี 2556 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม โดยเฉพาะแผนการลงทุนภายใต้ พรบ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่าขัดรัฐธรรมนูญ และโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ตามคำสั่งศาลปกครอง และการยืดเยื้อของสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ อันเนื่องมาจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 อีกด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่ำสุดในรอบ 27 เดือน
  • ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 43.7 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำที่สุดในรอบ 27 เดือน หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เมื่อช่วงปลายปี 54 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่า ในอีก 3 - 6 เดือน ข้างหน้า หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น เชื่อว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความมั่นใจด้านการลงทุน สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.พ. 57 จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หดตัวสูงอยู่ที่ร้อยละ -61.2 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวจากอาคารชุดร้อยละ -88.5 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ว่า การลงทุนภาคเอกชนในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.9 - 2.9 ต่อปี) จากปี 56 ที่หดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 29.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 34.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นฐานที่ 50 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 รวมทั้งยังเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 54 ซึ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9 ริกเตอร์ และสึนามิครั้งใหญ่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันของญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 57.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวลดลงมีสาเหตุสำคัญจากความกังวลของผู้บริโภคต่อแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 8.0 โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 57 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของนโยบาย Abenomics ที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ต้องการให้ผู้บริโภคใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมานาน รวมทั้งการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ยังคงกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ต่ำ (ช่วงร้อยละ 0.0 - 0.1 ต่อปี) เพื่อสนับสนุนการลงทุนและการจ้างงานภายในประเทศให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดของญี่ปุ่นบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 56 ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (QoQ_SA) ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 ขยายตัวร้อยละ 1.5 นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 57 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม สะท้อนภาพรวมตลาดการจ้างงานภายในประเทศซึ่งเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 56 สะท้อนภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่นที่มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ