รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2014 11:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. กนง. มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัว

2. หอการค้าชงแนวทางแก้ไขแรงงานถาวร

3. การส่งออกสินค้าและบริการในเดือน พ.ค. 57 ของออสเตรเลียหดตัวร้อยละ -4.7

1. กนง. มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัว
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง และนโยบายภาครัฐเริ่มมีความชัดเจน ส่งผลต่อเนื่องให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับดีขึ้นและอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง โดยเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่ายในประเทศเริ่มดีขึ้น ขณะที่วิกฤติการเมืองคลี่คลาย ทำให้การใช้จ่ายรัฐเร่งขึ้น และเอกชนมั่นใจขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 60.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ส่งผลให้การดำเนินนโยบายต่างๆ เริ่มมีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวที่มีการเริ่มทยอยจ่ายเงินจำนำข้าวให้กับชาวนาแล้วบางส่วน ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น และ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 85.1 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนเนื่องมาจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย รวมทั้งช่วยส่งเสริมด้านการผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ เดือนพฤษภาคม 2557 ถือเป็นเดือนหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทย ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐโดยเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2557 (คากการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
2. หอการค้าชงแนวทางแก้ไขแรงงานถาวร
  • กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย ในฐานะประธานประธานคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า ภายหลังการประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานระหว่างคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่าได้ข้อสรุปและขอเสนอแนวทางให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไข 3 แนวทาง คือ การแก้ไขปัญหาแรงงานของไทย การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และการแก้ไขปัญหาแรงงานประมง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาด้านแรงงานของไทยส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานประเภทไร้ฝีมือ โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุคสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมการผลิตเพชรพลอย อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เป็นต้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่านิยมทางการศึกษาของเด็กไทยที่นิยมศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากกว่าสายอาชีพ ทำให้แรงงานที่จบออกมาสำหรับภาคการผลิตของไทยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน จนนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต จากข้อมูลล่าสุดการจ้างงานในภาคการผลิตในช่วง 5 เดือนแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 6.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 8.6 หมื่นคน สะท้อนได้ว่าความต้องการแรงงานในสาขาการผลิตของไทยยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาติทำงาน (เข้าเมืองถูกกฎหมาย) ในประเทศไทยมีประมาณ 1.5 ล้านคน (ข้อมูล ณ พ.ค.57 สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว)
3. การส่งออกสินค้าและบริการในเดือน พ.ค. 57 ของออสเตรเลียหดตัวร้อยละ -4.7
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในเดือน พ.ค. 57 ของออสเตรเลียหดตัวร้อยละ -4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศขาดดุลการค้า 1.9 พันล้านเหรียญดอลลาร์ออสเตรเลีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในเดือน พ.ค. 57 ของออสเตรเลียจะ หดตัวก็ตาม แต่หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าจะพบว่าสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (QoQ_SA) ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังมีนโยบายในการลดกฎข้อบังคับและยกเลิกภาษีต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสทางเศรษฐกิจ (Open business) ให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างๆ คือการลงนามในความตกลงการค้าระหว่างประเทศ (FTAs) กับประเทศคู่ค้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ จีน เพื่อช่วยให้เกิดสภาพคล่องตัวทางเศรษฐกิจแก่นักลงทุนต่างชาติและช่วยสนับสนุนการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการนำเข้า - ส่งออกของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศนอกเหนือจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของออสเตรเลียในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ