รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 6, 2014 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2557

Summary:

1.ตลาดข้าวไทยฟื้นตัว ในเดือน ส.ค. 57 ทำสถิติส่งออกสูงสุด 9.75 แสนตัน

2. สองแถวอ้อนขึ้นค่าโดยสาร 3 บาท

3. การจ้างงานสหรัฐฯ ปรับตัวดีต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างยังนิ่ง

1. ตลาดข้าวไทยฟื้นตัว ในเดือน ส.ค. 57 ทำสถิติส่งออกสูงสุด 9.75 แสนตัน
  • นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาส่งออกข้าวของไทยในเดือน ก.ย. 57 ขยับสูงขึ้นจากเดือนก่อน เพราะตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คาดว่าในเดือน ก.ย. ไทยจะส่งออกข้าวได้ 9 แสนตัน โดยในเดือน ส.ค. 57 ปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ 975,023 ตัน หรือขยายตัวร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นปริมาณการส่งออกสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาความต้องการข้าวของไทย ทั้งข้าวขาว และข้าวนึ่ง ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาข้าวอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ประกอบกับเอกชนและรัฐบาลร่วมมือกันเจรจาขายข้าวให้กับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 57 การส่งออกข้าวของไทยอยู่ที่ 6.596 ล้านตัน หรือขยายตัวร้อยละ 59.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคิดเป็นมูลค่า 105,831 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 22.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งผู้ที่นำเข้าหลัก ได้แก่ เบนิน ไนจีเรีย จีน ไอเวอรีโคสต์ และแอฟริกาใต้
2. สองแถวอ้อนขึ้นค่าโดยสาร 3 บาท
  • ประธานชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหมวด 4 เอกชน กรุงเทพมหานคร หรือรถสองแถว เปิดเผยว่า สัปดาห์นี้ตัวแทนชมรมฯ จะเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือต่อ พอ.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ที่กระทรวงคมนาคม เพื่อขอปรับขึ้นค่าโดยสารสำหรับรถร้อนอีก 3 บาท คือปรับจาก 7 บาท เป็น 10 บาท เพื่อลดภาระขาดทุนและช่วยประคองให้สามารถวิ่งรถต่อไปได้ เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการรถสองแถวที่วิ่งให้บริการใน กทม.กว่าร้อยละ 50 หรือประมาณ 2,000 คัน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 4,000 คัน ตัดสินใจเลิกกิจการไปแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 สะท้อน ให้เห็นว่าเสถียรภาพของประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยสศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 57) ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งหลังจากรัฐบาลมีการปรับราคา LPG ภาคขนส่ง 62 สตางค์ และ NGV สำหรับรถยนต์ 1 บาท ในเดือนต.ค. 57 ทำให้มีแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการขอปรับขึ้นค่าโดยสารแท๊กซี่และค่าโดยสารรถสองแถว อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับอัตราค่าโดยสารแท๊กซี่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.0-11.0 ตามระยะทางจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 57 ปรับเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.04-0.06 จากกรณีฐานส่วนการปรับอัตราค่าโดยสารรถสองแถว 3 บาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยค่าโดยสารแท๊กซี่และค่าโดยสารรถสองแถวจัดอยู่ในหมวดค่าโดยสารสาธารณะซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักร้อยละ 2.2 ของตะกร้าเงินเฟ้อปีฐาน 54
3. การจ้างงานสหรัฐฯ ปรับตัวดีต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างยังนิ่ง
  • อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือน ก.ย. 57 ของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 6.1 ถือเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 51 (ก่อนวิกฤติซับไพรม์) โดยในเดือน ก.ย. เพียงเดือนเดียวตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นถึงราว 2.5 แสนตำแหน่ง นอกจากนี้ จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในเดือนเดียวกันยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 34.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 34.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในเดือนก่อนหน้าอย่างไรก็ดี ค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลด้านการจ้างงานที่ออกมาดีขัดแย้งกับข้อมูลด้านค่าจ้างที่มีการขยายตัวเพียงไม่มากในรอบปีที่ผ่านมา อาจมีสาเหตุมาจาก ประการแรก การที่เศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพทำให้ยังมีแรงงานและกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ ทำให้ยังไม่เกิดความขาดแคลนอันนำไปสู่การขึ้นราคาค่าจ้าง ประการที่สอง เงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากค่าเงินของสหรัฐฯ ที่แข็งค่าและการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มหดตัว รวมถึงราคาพลังงานที่มีแนวโน้มลดลงจากเทคโนโลยีด้าน Shale gas เงินเฟ้อคาดการณ์ที่ต่ำส่งผลถึงการปรับค่าจ้างของนายจ้างรวมถึงความคาดหวังของลูกจ้างในการขึ้นค่าจ้างของตนเองด้วย ด้วยค่าจ้างที่ยังคงชะลอตัว ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงน่าจะชะลอการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปเพื่อไม่ให้ซ้ำเติมรายได้ของประชาชน โดยนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ นิวยอร์คคาดการณ์ว่า สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินอย่าง แจเน็ท เยลเลน สแตนลีย์ ฟิชเชอร์ และวิลเลียม ดัดลีย์ จะเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปจากเหตุผลของค่าจ้างที่ปรับตัวขึ้นช้า

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ