รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2014 10:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. กกร.มองเศรษฐกิจไทยในQ3/57 ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

2. สอท. คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปี 58 เฉลี่ยที่ 90-95 ดอลลาร์/บาร์เรล

3. อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกัน

1. กกร.มองเศรษฐกิจไทยในQ3/57 ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร หรือ กกร. (ประกอบด้วย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย) ได้มีการประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจล่าสุด พบว่าเศรษฐกิจบางส่วนมีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงทรงตัว ส่วนการส่งออกขยายตัวแต่ยังมีความเปราะบางอยู่มาก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 57 เป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี กกร. คาดว่า แรงหนุนสำคัญที่จะช่วยฟื้นให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย คือการเร่งเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือต้นทุนเกษตรกรทั้งชาวนาและชาวสวนยางพาราวงเงินรวม 4.85 หมื่นล้านบาท เสร็จสิ้นภายในปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในไตรมาสที่ 3 ปี 57 และคาดว่าต่อเนื่องไปในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราเร่งในไตรมาสสุดท้ายของปี และส่งผลให้เศรษฐกิจในปี 57 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2-1.7 2. ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะเป็นแรงส่งสำคัญให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่องในปี 58 และ 3. อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6)
2. สอท. คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปี 58 เฉลี่ยที่ 90-95 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • นยสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยถึงทิศทางและแนวโน้มสถานการณ์น้ำมันโลกในปี 58 ว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกปี 58 จะลดลงอยู่ที่ 90-95 เหรียญต่อบาร์เรล จากปี 57 ที่คาดว่าจะเฉลี่ยกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล เนื่องจากยังอยู่ในสภาวะอุปทานล้นตลาด โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตน้ำมันได้สูงอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. ในปี 57 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย คาดว่าจะอยู่ที่ 101.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 99.0-103.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งปรับลดลงจากปี 56 ที่อยู่ที่ 105.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง แม้จะมีปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆในโลก ขณะที่อุปทานการผลิตน้ำมันโลกยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากแหล่งผลิตในอเมริกาเหนือ ส่งผลให้ราคาน้ำมันอยู่ในทิศทางขาลงต่อไป และ 2. จากทิศทางขาลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายปี 57 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 58 ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก โดยสศค. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 58 จะอยู่ที่ 100.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 95.0 - 105.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 57)
3.อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ประกาศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.1 เล็กน้อย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารสดอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.7 เล็กน้อยเช่นกัน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 57 นี้ จากร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 1.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. 57 ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยนั้นเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวเร่งขึ้นไม่มากนักที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 56 โดยในปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับทีต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง โดย GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 3.5 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่มีความเสี่ยงต่อการอยู่ในสภาวะซบเซา และ 3) ล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ซึ่งถือเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 53 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ต่อไป ธนาคารเกาหลีใต้อาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม หรืออาจต้องผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ออกมา จึงควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สศค. ณ เดือน ต.ค. 57 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.2-3.7)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ