รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 3, 2014 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2557

Summary:

1. มก. และ สศก. คาดมาตรการชดเชยให้เกษตรกรมีผลต่อจีดีพี 91,357 ล้านบาท

2. กกร. คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0

3. อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้ เดือน พ.ย. 57 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

1. มก. และ สศก. คาดมาตรการชดเชยให้เกษตรกรมีผลต่อจีดีพี 91,357 ล้านบาท
  • ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยร่วมกันว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรผู้มีรายได้น้อย ปีการผลิต 2557/58 โดยผ่านมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไร่ละ 1,000 บาท หากใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ดังกล่าว ครบ 40,000 ล้านบาท คาดจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 91,357 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) จากตัวเลข GDP ภาคการผลิตของภาคเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากไตรมาสมาสที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ปัจจัยสำคัญจากสาขาเกษตรกรรม เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จากมาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรดังกล่าว คาดว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน 2) จากการที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (API) ในเดือน ต.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.2 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือก ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยพยุงรายได้เกษตรกรได้ระดับหนึ่ง
2. กกร. คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0
  • ประธานประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกขน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในปี 58 ว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 3.5-4.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0-4.5 เนื่องจากการลงทุนภาครัฐยังมีความล่าช้า ส่งผลให้เม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบมีความล่าช้าตามไปด้วย ขณะที่ในปี 57 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.0 ตามการชะลอตัวการบริโภคภาคเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปี 57 สะท้อนจาก ขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน บวกกับการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกร จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2 - 1.7 2) ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะเป็นแรงส่งสำคัญให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่องในปี 58 และ 3) อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ตามการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6)
3. อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้ เดือน พ.ย. 57 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้รายงาน อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยลดลงจากเดือนกอ่นที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ทั้งนี้ เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) ตั้งแต่ มิ.ย. 55 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2.5-3.5 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อประกอบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปีที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 3.5 ตามลำดับ ส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจซบเซา 2) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน โดยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง คือ เดือน ส.ค. และ ต.ค. 57 ครั้งละ 25 bps. จากร้อยละ 2.5 ในเดือน ก.ค. เหลือร้อยละ 2.0 ในเดือน ต.ค. แต่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ยังคงไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน 3) นอกจากนี้ การประกาศเพิ่มปริมาณวงเงินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของญี่ปุ่น ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ย่อมทำให้ขีดความสามารถในการส่งออกของเกาหลีใต้ลดลงโดยเปรียบเทียบ แรงกดดันดังกล่าวอาจส่งผลให้ธนาคารเกาหลีดำเนินมาตรการทางการเงินที่เข้มข้นขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. ณ เดือน ต.ค. 57 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ปี 57 จะขยายตัวร้อยละ3.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3-3.7)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ