รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 26, 2014 11:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2557

Summary:

1. ม.หอการค้าไทยคาด คาดปีใหม่นี้เงินสะพัด 1.2 แสนล้านบาท

2. บมจ. ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปี 58 ผันผวนโดยเฉลี่ยที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

3. S&P พิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซีย

1. ม.หอการค้าไทยคาด คาดปีใหม่นี้เงินสะพัด 1.2 แสนล้านบาท
  • นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยคาดว่าปีนี้ ช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีเงินสะพัดประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งพบว่าเป็นการใช้จ่ายในด้านอุปโภคบริโภคมากที่สุด รองลงมาคือการทำบุญ การเลี้ยงสังสรรค์ การบริโภคสินค้าคงทน และการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความต้องการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จะส่งผลดีต่อทิศทางการใช้จ่ายในประเทศและภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 57 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 ปี 57 ยังคงมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ในช่วงดังกล่าวที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และอีกทั้งยอดการบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอยู่ในระดับต่ำ กอปรกับแรงกดดันราคาในระดับต่ำซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 58 นี้
2. บมจ. ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปี 58 ผันผวนโดยเฉลี่ยที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
  • บมจ. ไทยออยล์ สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 57 ว่าเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 55 -111 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 56 ที่อยู่ที่ 106 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 58 จะปรับลดลงจากปี 57 อย่างรวดเร็วลงอีก มาเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากแนวโน้มอุปทานในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการขยายตัวของอุปสงค์ทำให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบีย เป็นต้น และเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายแก่โรงกลั่นน้ำมันและแหล่งน้ำมันดิบ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในปี 58 ได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบที่เคลื่อนไหวลดลงมากจากปี 56 และปรับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงกลางปี 57 เป็นต้นมานั้นมีสาเหตุสำคัญ คือ (1) อุปสงค์ของโลกที่ขยายตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวในระดับต่ำ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรปที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ (2) อุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุปทานน้ำมันดิบชนิดเบาจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) จากสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ตลาด และ มติที่ประชุม OPEC เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 57 ที่จะไม่ลดการผลิตน้ำมันเพื่อคงส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ โดยรัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แถลงว่าทาง OPEC จะคงอัตราการผลิตน้ำมันที่ระดับเดิมแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงไปเหลือเพียง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลก็ตาม และ (3) ค่าเงินดอลาร์สหรัฐที่แข็งค่าทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากตลาดโภคภัณฑ์เพื่อไปลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. จะปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 58 ในการประมาณการเศรษฐกิจเดือน ม.ค. 58 ที่จะถึงนี้
3. S&P พิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซีย
  • บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor's (S&Ps) ประกาศว่ากำลังพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซีย และได้จัดให้รัสเซียอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเป็นไปที่จะโดนปรับลดอันดับ โดยในปัจจุบันความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียในสกุลเงินรูเบิลถูกจัดให้อยู่ในระดับ BBB / A-2 และในสกุลเงินต่างประเทศถูกจัดให้อยู่ในระดับ BBB- / A-3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ S&Ps จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซีย เพราะรัฐบาลรัสเซียมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เนื่องจาก 1) การอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินรูเบิลทำให้หนี้ต่างประเทศของรัสเซียมีมูลค่าสูงขึ้น 2) การคว่ำบาตรทางการค้าระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ - ยุโรป ส่งผลให้การส่งออก ลดลง 3 เดือนติดต่อกัน โดยในเดือน ต.ค. 57 หดตัวถึงร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 3) รัสเซียพึ่งพารายได้จากการส่งออกพลังงานในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่า การส่งออกรวม และรายได้ภาษีน้ำมันเป็นรายได้กว่าครึ่งหนึ่งของรายได้รัฐ 4) ถึงแม้ว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ที่กว่า 419 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากไม่รวมทองคำแล้ว เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียคิดเป็นเพียง 0.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศ และประมาณ 2.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น อีกทั้งรัสเซียเคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้เมื่อปี 41 จึงทำให้เกิดความกังวลในตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ หาก S&Ps ตัดสินใจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัสเซียในสกุลเงินต่างประเทศลง 1 ขั้น จะทำให้ถูกจัดอยู่ในชั้น "ไม่น่าลงทุน" ทันที ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้กองทุนต่างๆ ต้องขายหุ้นหรือพันธบัตรรัสเซียทันที ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนสูง เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ