รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 6, 2015 10:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 มกราคม 2558

Summary:

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปปี 57 โตร้อยละ 1.89 เงินเฟ้อพื้นฐานร้อยละ 1.59

2. รมช.เกษตรฯ ชี้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ยืนยันสถานการณ์ราคายางขณะนี้ผ่านพ้นช่วงวิกฤต

3. ยูโรร่วงเทียบดอลล์เช้านี้ หลังประธานอีซีบีส่งสัญญาณใช้ QE ครั้งใหญ่

1. พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปปี 57 โตร้อยละ 1.89 เงินเฟ้อพื้นฐานร้อยละ 1.59
  • นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. 57 เท่ากับ 106.65 สูงขึ้นร้อยละ 0.60 เทียบกับ ธ.ค. 56 ต่ำสุดรอบ 62 เดือน ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยทั้งปี 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ธ.ค.57 อยู่ที่ 105.39 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.69 จากเดือน ธ.ค.56 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยทั้งปี 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 57 ชะลอตัวลงเมื่อเที่ยบกับช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศโดยเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน และลดราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ นอกจากนี้ ราคาอาหารสดราคาปรับลดลง โดยเฉพาะผลผลิตในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ ปลาและสัตว์น้ำ และไข่ไก่ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปี 57 ขยายตัวสูงขึ้นไม่มากนัก สำหรับในปี 58 สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 - 2.7 โดยคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (คาดการณ์ ณ ต.ค.57)
2. รมช.เกษตรฯ ชี้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ยืนยันสถานการณ์ราคายางขณะนี้ผ่านพ้นช่วงวิกฤต
  • นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ว่าขณะนี้ราคายางแผ่นดินรมควัน อยู่ที่กิโลกรัมละ 60.75 บาท และจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ ขณะนี้สถานการณ์ราคายางผ่านช่วงเลวร้ายที่สุด และกำลังเข้าสู่ระยะฟื้นตัวในลักษณะที่ไม่รวดเร็วมากนัก รวมถึงต้องอาศัยปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมรถยนต์ ตลอดจนราคาน้ำมัน ที่จะส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น เชื่อว่าจากมาตรการชดเชยรายได้ และการดูแลด้านราคาของรัฐบาล จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางผ่านพ้นวิกฤตไปได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้อุปสงค์ยางพารายังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าสถานการณ์ราคายางพาราจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมของ สศค. สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร และดัชนีราคาสินค้าเกษตร พบว่า ยางพารามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20.6 ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ย. ผลผลิตยางพารายังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -24.7 จากปัญหาฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ภาคใต้ที่ขัดขวางการกรีดยางของชาวสวนยาง อีกทั้งดัชนีราคาผลผลิตยางพาราในเดือน พ.ย. ยังคงหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -32.6 ตามสถานการณ์ราคายางพาราในตลาดโลกดังกล่าว ทั้งนี้ หากราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น อาจเป็นส่วนช่วยทำให้รายได้ที่แท้จริงที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นได้ และเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการบริโภคภาคเอกชนต่อไป
3. ยูโรร่วงเทียบดอลล์เช้านี้ หลังประธานอีซีบีส่งสัญญาณใช้ QE ครั้งใหญ่
  • สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 9 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ส่งสัญญาณการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลครั้งใหญ่ เพื่อสกัดภาวะเงินฝืด และยังกล่าวว่าความเสี่ยงที่อีซีบีจะไม่สามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคาเอาไว้ได้มีสูงกว่าเมื่อ 6 เดือนก่อน ทำให้อีซีบีต้องเตรียมพร้อมในการปรับวงเงินในมาตรการ QE ขณะเริ่มต้นปี 2015 หากมีความจำเป็น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนที่ลดต่ำลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3/57 และล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาภาวะเงินฝืด รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดย GDP ไตรมาส 3/ 57 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศสและการหดตัวของเศรษฐกิจอิตาลี ถึงแม้ว่า ECB จะประกาศนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมโดยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินโดยการปล่อยกู้และการซื้อ Covered Bond แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากธนาคารพาณิชย์มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้อีซีบียิ่งต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการรักษาเสถียรภาพด้านราคามากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ