รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 9, 2015 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558

Summary:

1. นายกฯ สั่งดูแลปัญหาราคาสินค้าแพง

2. สหรัฐเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ม.ค. 58

3. ราคาน้ำมันวกกลับ ปิดยืนเหนือ 50 เหรียญ

1. นายกฯ สั่งดูแลปัญหาราคาสินค้าแพง
  • นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีความผันผวนในช่วงนี้ ก็มีหลายฝ่ายร้องเรียนว่า ราคาสินค้าทั่วไปนั้นแพงขึ้น ซึ่งได้รับข้อมูลว่าราคาสินค้าส่วนประกอบนั้นไม่ค่อยขึ้นหรือขึ้นน้อย แต่เมื่อมาปรุงสำเร็จแล้วไปบวกราคากันมาก เพราะเกรงว่าจะขายได้น้อยลง รายได้ก็ลดลงก็ต้องไปเพิ่มราคาในแต่ละจาน แต่ละประเภทมากขึ้น จึงควรต้องมีการพูดคุยกับพ่อค้าคนกลางหรือผู้ประกอบการ เกี่ยวกับร้านค้าอาหารจานเดียวสำเร็จรูปพวกนี้ด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน ม.ค. พบว่าราคาสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูปมีการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. มีการหดตัวที่ร้อยละ -0.4 จากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกเป็นหลัก โดยคาดว่าแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบในปีนี้ จะส่งผลให่อัตราเงินเฟ้อในปี 58 อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ที่ร้อยละ 0.9 (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค.) อย่างไรก็ดี มาตรการการเพิ่มราคาก๊าซ NGV และ LPG ของรัฐบาล อาจจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาด้านบริการขนส่ง และราคาอาหารในปีนี้
2. สหรัฐเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือน ม.ค. 58
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 257,000 ราย ในเดือน ม.ค. 58 จากระดับ 329,000 ราย ในเดือนธ.ค. 57 ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยูที่ร้อยละ 5.7 จากร้อยละ 5.6 ในเดือน ธ.ค. 57 โดยตัวเลขการจ้างงานในเดือน ม.ค.ถือเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันที่การจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 200,000 ราย โดยการจ้างงานในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 267,000 ตำแหน่ง ในเดือน ม.ค. ขณะที่ภาครัฐลดการจ้างงาน 10,000 ตำแหน่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าอัตราการว่างงานโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยอยูที่ร้อยละ 5.7 ในเดือน ม.ค. 58 แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากเป็นการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนได้ส่วนหนึ่ง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และจากการที่ GDP ไตรมาสที่ 4/57 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อน อันเป็นผลมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0 - 0.25 ต่อปีต่อไปอีกระยะหนึ่งเป็นปัจจัย เอื้อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดี ซึ่งหากสถานการณ์การจ้างงานยังคงปรับตัวดีขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถขยายตัวได้ดีต่อไป
3. ราคาน้ำมันวกกลับ ปิดยืนเหนือ 50 เหรียญ
  • ราคาน้ำมันดิบโลกทั้ง 2 แหล่งสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปิด ณ ระดับสูงกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดย ราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัสส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดล่วงหน้านิวยอร์ก (NYMEX) ปิด ณ วันศุกร์ที่ผ่านมาที่ระดับ 51.69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.21 เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคาทั้งสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 จากสัปดาห์ก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันเบรนท์ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดล่วงหน้าลอนดอน ปิด ณ วันศุกร์ที่ผ่านมาที่ระดับ 57.80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.23 เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคา ทั้งสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้สาเหตุการปรับเพิ่มขึ้นของราคามาจากการลดจำนวนลงของแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ เป็นสำคัญ โดยจำนวนแท่นขุดเจาะล่าสุดได้ลดลงอีกจำนวน 83 แท่น ทำให้จำนวนแท่นทั้งหมดคงเหลือ 1,140 แท่น ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในทิศทางของการปรับตัวเพื่อรองรับกับราคาที่ตกต่ำ โดยเฉพาะการลดจำนวนแท่นขุดเจาะที่เกิดขึ้น อย่างชัดเจนและเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะกำหนดราคาที่แท้จริงคือ ปริมาณการผลิตน้ำมันที่ออกสู่ตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ประสิทธิภาพการผลิตในปัจจุบันมีสูงกว่าในอดีตมาก ผู้ผลิตสามารถรักษาระดับกำลังการผลิตได้ด้วยจำนวนแท่นที่เหลืออยู่ ประการที่สอง การป้องกันความเสี่ยงทางราคาของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ทำให้การผลิตสามารถยืนระยะได้นานกว่าที่ต้นทุนที่แท้จริงกำหนด และประการที่สาม ภาระทางการเงินที่ผู้ผลิตทั้งในสหรัฐฯ และนอกสหรัฐฯ (โดยเฉพาะรัสเซีย) ต้องแบกรับ บีบบังคับให้ต้องเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรักษาระดับรายได้ ด้วยเหตุนี้ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจึงอาจเป็นเพียงปรากฎการณ์ระยะสั้นเท่านั้น ทิศทางราคาน้ำมันในระยะกลางถึงยาวน่าจะยังอยู่ในขาลงจนกว่าปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อปริมาณ การผลิตจะมีการเปลี่ยนแปลง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ