รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 18, 2015 11:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 มีนาคม 2558

Summary:

1. พาณิชย์จับตาสินค้า 11 รายการมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น

2. ททท.จับมือเอกชนลุย 'ไอทีบี" ดึงยุโรปเที่ยวไทยเพิ่มรายได้

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดเม็ดเงิน 80 ล้านล้านเยนต่อปี

1. พาณิชย์จับตาสินค้า 11 รายการมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยว่าได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามภาวการณ์ผลิตและการจำหน่ายสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ และผักสดจำนวน 11 รายการ เช่น ผักชี ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง พริกสด และเนื้อหมู เป็นต้น เพราะมีแนวโน้มราคาอาจจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเข้าสู่หน้าแล้งและอากาศร้อน ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.พ. 58 เท่ากับ 106.15 สูงขึ้นจากเดือนม.ค. 58 ร้อยละ +0.1 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ -0.5 เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปี 58 ลดลงร้อยละ -0.5 จากสาเหตุ 1) ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก และ 2) สินค้าอื่นปรับตัวสูงขึ้น เช่น ปลา สัตว์น้ำ ผลไม้สด ข้าวราดแกง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนและค่าโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น ทั้งนี้ราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และผักสด ปรับราคาลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 58 ลดลงร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อนหน้า การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ -0.1 จากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาอาหารสดสำคัญ ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ประกอบกับราคาผักสด เช่น แตงกวา ผักกาดขาว ต้นหอม ผักชี เป็นต้น ปรับตัวลง ซึ่งคาดว่าราคาสินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์และผักสดจะยังคงทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ราคาปกติ อย่างไรก็ดีสินค้าบางรายการอาจปรับตัวสูงบ้างตามสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง
2. ททท.จับมือเอกชนลุย 'ไอทีบี" ดึงยุโรปเที่ยวไทยเพิ่มรายได้
  • ธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า แม้ตลาดยุโรปประสบปัญหาเศรษฐกิจแต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังเติบโต ได้ดี เพราะนักท่องเที่ยวยุโรปนั้นวางแผนการท่องเที่ยวและจองทัวร์กันล่วงหน้า แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ ดังนั้นททท. และเอกชนด้านการท่องเที่ยวกว่า 60 ราย ต่างเข้าร่วมงาน "ไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม เอ็กซ์เชนจ์"หรือไอทีบี ครั้งที่ 50 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อรักษาและเพิ่มตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปให้ได้ตามเป้า โดยททท. ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวยุโรปให้ได้ 4.48 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9% และต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวไทยครั้งละ 70,246 บาทต่อหัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หาก ททท. สามารถเพิ่มตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปได้ตามเป้าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคหนึ่งที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าในเดือน ก.พ.58 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศปรับตัวสูงขึ้นและขยายตัวทุกภูมิภาค โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 71.1% ปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 70% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และสูงกว่าเดือน ก.พ.ปีก่อน 14.0% สะท้อนถึงการท่องเที่ยวที่ยังคงมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต ที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดเม็ดเงิน 80 ล้านล้านเยนต่อปี
  • จากการประชุมของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 17 มี.ค. 58 โดย BOJ จะยังคงอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นวงเงินกว่า 80 ล้านล้านเยนต่อปี (หรือ 660 พันล้านดอลลาร์ต่อปี) ขณะที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปี 58 นอกจากนี้บริษัทรายใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้สูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงชะลอตัว สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 4 ที่หดตัวร้อยละ -0.8 ส่งผลให้ในปี 57 GDP หดตัวที่ร้อยละ -0.03 จากการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน เม.ย.57 ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวก 1. ภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกญี่ปุ่นเดือนม.ค. 58 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของญี่ปุ่น วงเงินกว่า 3.5 ล้านล้านเยน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของ GDP) และ 3. สภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบวงเงินกว่า 80 ล้านล้านเยนต่อปี (เพิ่มขึ้น 20 ล้านล้านเยนต่อปี) ทำให้คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 หรือที่ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.4 - 1.4

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ