รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 20 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 20, 2015 15:00 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Weekดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับ เดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว(%mom_sa) ตามการหดตัวของผลผลิต ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ แต่ผลผลิตมันสำปะหลังขยายตัวเนื่องจากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามการขยายตัวของผลผลิตสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ ส่วนผลผลิตในหมวดประมง สะท้อนจากปริมาณผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมที่ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 36.8

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ก.พ. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันที่ร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -11.0 แต่คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) ตามราคายางพารา และราคาข้าวเปลือกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการของโลกที่ลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ สอดคล้องกับราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่หดตัวร้อยละ -8.2 ตามราคาไก่เนื้อ ไข่ไก่ และราคาสุกรที่หดตัวลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นในเดือนนี้ รวมทั้งราคามันสำปะหลังที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตสับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมันราคาสูงขึ้น เนื่องจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.65 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดย นักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี มาจากกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และอาเซียนเป็นหลัก โดยขยายตัวร้อยละ 39.5 และ 49.3 ต่อปี ขณะที่ กลุ่มยุโรป หดตัวร้อยละ -14.3 ต่อปี

Economic Indicators: Next Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 58 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาคเอกชนยังคงรอดูท่าทีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความชัดเจนของการลงทุนจากภาครัฐ ทำให้การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรยังคงชะลอตัว

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ที่ประชุม FOMC ในวันที่ 17- 18 มี.ค. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0 - 0.25 ต่อปี โดยส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายหลังเดือน มิ.ย. 58 ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตรถยนต์และเครื่องมือเครื่องจักรที่ชะลอตัว ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -17.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) มากที่สุดในรอบ 4 ปี จากปัจจัยชั่วคราวจากสภาพอากาศย่ำแย่ ขณะที่ ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 19.9 ขณะที่บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์หดตัว

China: mixed signal

ดัชนีราคาบ้าน เดือน ก.พ. 58 ปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาบ้านในเมืองปักกิ่งและฉงชิ่งที่ปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งมาอาจเป็นผลมาจากปัญหาหนี้สินในระดับสูงเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้ความต้องการในการซื้อบ้านของชาวจีนลดลง

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี เท่ากับ ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ โดยอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผลจากการหดตัวของราคาพลังงานและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ ร้อยละ 0.7 ต่อปี มูลค่าส่งออก เดือน ม.ค. 58 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถึงแม้ค่าเงินยูโรในช่วงเวลาดังกล่าวจะอ่อนค่าลงมากก็ตาม ขณะที่มูลค่านำเข้า หดตัวร้อยละ -5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าพลังงานที่หดตัวลงมาก ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 58 เกินดุล 7.9 พันล้านยูโร อย่างไรก็ตาม การค้าภายในยูโรโซน หดตัวร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Japan: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่านำเข้า เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนเดียวกันขาดดุลเพียง -4.2 แสนล้านเยน นับเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ยกเว้นสินค้าในหมวดบริการที่ยังปรับตัวสูงขึ้น

UK: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 58 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 51 และเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 58 ธนาคารกลางอังกฤษมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 58 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากภาคบันเทิงและนันทนาการที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคสารสนเทศและโทรคมนาคมและภาคก่อสร้างมีการจ้างงานลดลง

India: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาเชื้อเพลิงและสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และมากที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่งจากสินค้าทุกประเภทที่หดตัว โดยเฉพาะน้ำมันและแก๊สที่หดตัวในระดับสูง จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลง มูลค่านำเข้า เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -16.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และมากที่สุดในรอบ 3 ปี จากราคาน้ำมันที่ลดลง อีกทั้งกำลังซื้อของประชาชนในประเทศลดลง ดุลการค้า เดือน ก.พ. 58 เกินดุลลดลง 7.4 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในวันที่ 17 มี.ค. 58 ธนาคารกลางอินโดนีเซียตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มยุโรป เอเชีย และจีนที่หดตัวเร่งขึ้น มูลค่านำเข้า เดือน ก.พ. 58 หดตัวร้อยละ -20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากมูลค่านำเข้าสินค้าหมวดเชื้อเพลิงและพลังงานที่หดตัวเป็นหลักส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวเกินดุลมูลค่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าโทรคมนาคมและยานพาหนะที่หดตัวสูง โดยในมิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นหดตัวสูงตามค่าเงินยูโรและเยนที่อ่อนค่าลงมากกว่า ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวสูงร้อยละ -19.7 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัว ทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.4 จากกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากจากบัณฑิตที่จบการศึกษาและเริ่มเข้าสู่กำลังแรงงานมากขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงต้นสัปดาหที่เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1.5 เดือน โดย ณ วันที่ 19 มี.ค. 58 ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 1,532.13 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 42,284 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลภายหลังที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. 58 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 19 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,458.2 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุไม่เกิน 5 ปี ปรับตัวลดลง 1-4 bps ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุเกิน 5 ปี ปรับตัวสูงขึ้นในสัดส่วนเท่าๆกัน โดยนักลงทุนติดตาม (1) การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ในวันที่ 16 - 17 มี.ค. 58 (2) การประชุม FOMC ดังกล่าว และ (3) การประกาศประมาณการเศรษฐกิจไทยของ ธปท. ในวันที่ 20 มี.ค. 58 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 19 มี.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 5,829.9 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยวันที่ 19 มี.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.21 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ยกเว้นริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน

ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 19 มี.ค. 58 ปิดที่ 1,165.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,154.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ