รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2015 13:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.พ.โตร้อยละ 3.6 บวกครั้งแรกในรอบ 23 เดือน

2. สศก.3 แจงสถานการณ์ไข่ไก่ เผย มี.ค.-พ.ค. สะดุดปัญหาล้นตลาดช่วงปิดเทอม

3. เกาหลีใต้เผยอัตราเงินฝากและเงินกู้ลดลงแตะสถิติต่ำสุด หลังแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

1. ดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.พ.โตร้อยละ 3.6 บวกครั้งแรกในรอบ 23 เดือน
  • นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมเดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ 171.91 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จาก 166.01 ในเดือน ก.พ. 57 โดยกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 23 เดือน เป็นการขยายตัวตามหลายอุตสาหกรรม อาทิ การกลั่นน้ำมัน เบียร์ น้ำตาล เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก. พ.58 อยู่ที่ 61.40 ลดลงจาก 58.92 ในเดือน ก.พ. 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหากรรม (MPI) ที่ขยายตัวได้ 3.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในหมวดของน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องแต่งกายและยานยนต์เป็นสำคัญ ซึ่งหากพิจารณาจากแหล่งที่มาของอัตราการขยายตัวจะพบว่า มาจากอุตสาหกรรมหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนดัชนีผลผลิตในเดือนนี้ คือ (1) อุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะเบียร์ เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งทำการผลิตก่อนมีการปรับใช้ กม.ใหม่ ในเรื่องของการจัดสรรเงินเข้ากองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติประมาณร้อยละ 2 ของภาษีสรรพสามิตที่เสียในแต่ละปี (2) ปิโตรเลียม เนื่องจากโรงกลั่นต่างๆ กลับมาทำการผลิตได้เกือบทุกโรงแล้ว เว้นแต่บางจากที่อยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุง (3) อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายที่คาดว่าได้รับอานิสงค์จากชุดข้าราชการและเสื้อม่วง และ (4) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มกลับมาทำการผลิตในระดับปกติ ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงตัวดัชนีชี้นำของภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนได้จากปริมาณนำเข้าวัตถุดิบหักทองจะพบว่าขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งบ่งบอกถึงกิจกรรมด้านการผลิตในอนาคตที่คาดว่าจะส่งสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ในระยะต่อไป
2. สศก.3 แจงสถานการณ์ไข่ไก่ เผย มี.ค.-พ.ค. สะดุดปัญหาล้นตลาดช่วงปิดเทอม
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 แจงสถานการณ์ไข่ไก่ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ระบุ ประสบกับปัญหาไข่ไก่ค้างสต๊อกช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม และช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม แนะส่งเสริมให้สหกรณ์มีการวางแผนการตลาดเพื่อบรรเทาปัญหาควบคู่พัฒนาสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปิด เออีซี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ผลผลิตไข่ไก่ในภาพรวมสามารถขยายตัวได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจาก ผู้ผลิตมีการใส่ใจดูแลคุณภาพฟาร์ม พัฒนาระบบโรงเรือนเป็นระบบปิด เพื่อป้องกันโรคระบาด และพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงดูที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น กอปรกับตั้งแต่ปลายปี 57 ที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนช่วยให้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตไข่ไก่ตั้งแต่ต้นปี 2 เดือน ขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ลดลงเช่นกัน โดย 2 เดือนแรก ดัชนีราคาไข่ไก่ หดตัวร้อยละ -19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หากในช่วงปิดเทอม หรือช่วงเทศกาลกินเจ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ไม่ดำเนินกลยุทธ์ หรือแผนการตลาดเพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะปรับลดลงในช่วงดังกล่าว อาจทำให้ปริมาณไข่ไก่ล้นตลาดและราคาไข่ไก่ปรับลดลงอีกได้ ซึ่งทางผู้เลี้ยงไก่ไข่ควรหาตลาดเพื่อหาช่องทางระบายไข่ไก่ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนช่วงสิ้นปีนี้ด้วย หรือผู้ผลิตอาจจะปรับแผนการผลิตจากไข่ไก่เพื่อการบริโภค เป็นไข่ไก่เพื่อไปฟักเลี้ยงเป็นลูกเจี๊ยบในช่วงดังกล่าวแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดได้
3. เกาหลีใต้เผยอัตราเงินฝากและเงินกู้ลดลงแตะสถิติต่ำสุด หลังแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า อัตราเงินฝากและปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์เกาหลีใต้ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลีใต้ในเดือน มี.ค 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอัตราเงินฝากโดยเฉลี่ยในเดือนก.พ.ปรับตัวลงร้อยละ 0.05 จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับร้อยละ 2.04 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ธนาคารกลางเกาหลีใต้เริ่มรวบรวมข้อมูลในปี 2539
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของเกาหลีใต้เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 0.8 ในเดือนก่อนหน้า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากภาคการค้ายังคงส่งสัญญาณชะลอตัวจากมูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวสูงร้อยละ -19.7 จากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่หดตัว รวมทั้งในด้านเสถียรภาพ อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.4 อย่างไรก็ดี เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจถึงประมาณร้อยละ 80 ของ GDP หากผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ คาดว่าไตรมาสที่ 1/58 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะยังคงขยายตัวได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ