รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 20, 2015 11:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 เมษายน 2558

Summary:

1. พาณิชย์เปิดงานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ในบ้านที่ไบเทคฯ กระตุ้นส่งออก

2. สหรัฐเผยดัชนี CPI บวกร้อยละ 0.2 ในมี.ค. 58 เพิ่มขึ้นเดือนที่ 2

3. ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตรากันสำรองแบงก์พาณิชย์อีกร้อยละ 1 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

1. พาณิชย์เปิดงานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ในบ้านที่ไบเทคฯ กระตุ้นส่งออก
  • ปลัดกระทรวงพานิชย์เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้าของขวัญและของใช้ในบ้าน ครั้งที่ 39 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงสินค้าของขวัญของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน และงานหัตถกรรม อุปกรณ์สำนักงาน เพื่อให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศได้พบปะกับผู้ผลิตและส่งออกของไทยสนับสนุนการส่งออก และเป็นการแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ในการเปิดตลาดสู่ประชาคมอาเซียน โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มยอดการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้ขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 1,199.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.5 ต่อการส่งออกรวมทั้งหมดในปี 57 โดยมีตลาดหลักในการส่งออก 3 อันดับแรกคือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ตามลำดับ โดยมีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เป็นสินค้าส่งออกหลัก ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกถึงร้อยละ 36.1 ของการส่งออกเฟอร์นิเจอร์โดยรวม อย่างไรก็ดี พบว่าในปีที่ผ่านมา การส่งออกเฟอร์นิเจอร์หดตัวที่ร้อยละ -3.1 จากการหดตัวของการส่งออกไปตลาดหลัก อย่างประเทศญี่ปุ่น โดยในปีนี้ คาดว่าสินค้าประเภทดังกล่าวอาจจะเจออุปสรรคในการเพิ่มยอดการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ มีเพียงสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ค่อนข้างดีในปีนี้ ส่วนการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนนับเป็นความคิดที่ดี เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรกำลังมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มในการเพิ่มความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อการตกแต่งมากขึ้นในอนาคต
2. สหรัฐเผยดัชนี CPI บวกร้อยละ 0.2 ในมี.ค. 58 เพิ่มขึ้นเดือนที่ 2
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มี.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.1 ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อเทียบรายเดือนพบว่า CPI ขยายตัวร้อยละ 0.2 ในเดือน มี.ค. 58 เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้น เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ขยายตัว ร้อยละ 0.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 58 เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากยอดค้าปลีก ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มี.ค. 58 ลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจ ด้านอุปทานส่งสัญญาณการขยายตัวในอัตราชะลอลงของภาคการผลิต บ่งชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ที่อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 52.6 จุด และ 56.7 จุด ตามลำดับ แต่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องอย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 101.3 จุด ยังคงสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น
3. ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตรากันสำรองแบงก์พาณิชย์อีกร้อยละ 1 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกร้อยละ 1 ซึ่งนับเป็นการปรับลดอัตราส่วน RRR เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางได้ปรับลดไปแล้วร้อยลละ 0.5 เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะชะลอตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 7.0 ลดลงจากร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งเครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือน มี.ค. 58 ยังคงชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน มี.ค. 58 กลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดอีกครั้ง ที่ระดับ 49.6 จุด รวมทั้งดัชนีฯ ภาคบริการ (NBS) เดือน มี.ค. 58 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 53.7 จุด สะท้อนถึงภาคการผลิตที่ยังคงชะลอตัว และจากสัญญาณเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอลงต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ทางการจีนต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 58 รวมทั้งมาตรการลดอัตรากันสำรองแบงก์พาณิชย์ดังกล่าว สศค. คาดว่าหากนโยบายดังกล่าวมีผล อาจจะช่วยให้การลงทุนปรับตัวดีขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ