รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2015 15:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลือนยุทธศาสตร์ส่งออกกลุ่มสินค้าฮาลาล

2. ส่งออกส่อติดลบ

3. EIA คาดปริมาณการผลิตพลังงานเชลสหรัฐฯ ร่วงต่อเนื่อง

1. กระทรวงพาณิชย์เร่งขับเคลือนยุทธศาสตร์ส่งออกกลุ่มสินค้าฮาลาล
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนการส่งออกกลุ่มสินค้าฮาลาล 1 ใน 11 สินค้าเป้าหมายว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งออกฮาลาลตามนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมธุรกิจสินค้าฮาลาลไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับ 13 ของประเทศผู้ส่งออก ให้สามารถติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ภายในปี 2563 โดยมูลค่าตลาดรวมทั้งโลกอยู่ที่กว่า 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ในปี 2558 คาดว่าสินค้ากลุ่มฮาลาลจะส่งออกได้มูลค่า 6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 โดยสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าส่งออกไปยังต่างประเทศกว่า 1.1 ล้านล้านบาทต่อปี (เฉลี่ย 5 ปี ขยายตัวร้อยละ 6.9) แต่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลเพียงร้อยละ 10.0 เท่านั้น ซึ่งขั้นตอนที่ล่าช้าและใบรับรองมีอายุเพียง 1 ปีนั้น น้อยเกินไป จึงจะเสนอให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ดำเนินโครงการให้กับผู้ที่เคยได้รับการรับรองฮาลาลมาแล้ว 3 ปี ให้การรับรองเป็นคราวละ 2 ปี (มีการตรวจทุกปี) ด้านค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการในการขอตรารับรอง (ขอเป็นรายผลิตภัณฑ์) เอกชนเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายร้อยละ 50.0 ของค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบออกตรารับรอง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การสนับสนุนการส่งออกสินค้าฮาลาลจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกไทยในปี 58 ให้เติบโตได้ เนื่องจาก 1.ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าฮาลาลไทย 2. สินค้าฮาลาลไทย ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น ไม่อ่อนไหวต่อวัฏจักรเศรษฐกิจ ทำให้มูลค่าการส่งออกไม่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่จะได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ลดลง และ 3. การส่งออกสินค้าฮาลาลไทยจะช่วยเพิ่มการขยายตัวของการส่งออกในกลุ่มผู้นำเข้าชาวมุสลิม อาทิ ตลาดอินโดนีเซีย โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 58 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไทยไปยังอินโดนีเซียหดตัวร้อยละ -15.4 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 58 มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง 2.2 (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 58)
2. ส่งออกส่อติดลบ
  • นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยตอนนี้ตกต่ำมาก ยังไม่แน่ใจว่าจะขยายตัวเป็นบวกหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาหลายฝ่ายยังคาดการณ์การส่งออกจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการประมาณเพื่อให้ประชาชนสบายใจ แต่ปัญหาขณะนี้การส่งออกของไทยมีสัดส่วนการส่งออกระหว่างเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ถึงร้อยละ 8-9 หากตัดกลุ่มนี้ออกไป ตัวเลขการส่งออกของไทยอาจถึงขั้นติดลบ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในปี 58 นี้ การส่งออกสินค้าของไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย ได้แก่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และจากข้อมูลการส่งออกล่าสุด พบว่าในไตรมาสแรก มูลค่าการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -4.7 โดยมีแหล่งที่มาของการหดตัวสูงที่สุดจากการส่งออกไปประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนได้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการหดตัว อย่างไรก็ดี ยังมีตลาดที่ยังสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งคือ ตลาด CLMV ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 10.6 ในช่วงไตรมาสแรกจากสินค้าประเภทยานยนต์ และเครื่องดื่มที่ขยายตัวถึงร้อยละ 36.6 และ 21.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค.คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 58 จะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 (ประมาณการ ณ เดือนเม.ย.58)
3. EIA คาดปริมาณการผลิตพลังงานเชลสหรัฐฯ ร่วงต่อเนื่อง
  • องค์กรบริหารข้อมูลพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) เปิดเผยข้อมูลการผลิตด้านพลังงานของสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันเชลของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. นี้จะลดลง 5.4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และจะลดลงอีกราว 8.6 หมื่นบาร์เรลต่อวันในเดือนหน้า ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 5.56 ล้านบาร์เรลต่อวันถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า สัญญาเดือน มิ.ย. ปิดตัวเพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 60.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วร้อยละ 44 จากช่วงกลางเดือน มี.ค. จาการคาดการณ์การลดลงของปริมาณการผลิต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงของการผลิตน้ำมันเชลของสหรัฐฯ เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์จากการเห็นสัญญาณการลดลงของจำนวนแท่นขุดเจาะอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงการลดเม็ดเงินลงทุนและการจ้างงานของบริษัทพลังงานในสหรัฐฯ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาจะส่งผลให้แรงจูงใจของการผลิตกลับมาเป็นแรงกดดันต่อราคาในอนาคตอีกครั้ง โดยการฟื้นตัวของการผลิตในสหรัฐฯ จะไม่ได้เกิดขึ้น อย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 เดือนหน้านี้ เนื่องจากการปรับตัวของผู้ผลิตในการกลับมาดำเนินการมีต้นทุนและใช้เวลา นั่นทำให้ราคาน้ำมันในภาพรวมจะยังคงเป็นขาขึ้น แต่เป็นขาขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันด้านอุปทานที่สะสมอยู่ สศค. คาดว่าราคาน้ำมันดิบสะท้อนจากราคาทางฝั่งดูไบจะยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คงเดิมจากการคาดการณ์ ณ ต้นปี

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ