รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 14, 2015 11:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2558

Summary:

1. สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศส่งผลให้ราคาไข่ขยับตัวสูง 0.10 บาท ต่อฟอง

2. สศช. จ่อหั่นเป้าจีดีพี ปรับส่งออกหดตัวร้อยละ -1.0 ถึง -2.0

3. IEA มองราคาน้ำมันลงต่อ

1. สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศส่งผลให้ราคาไข่ขยับตัวสูง 0.10 บาท ต่อฟอง
  • นายอรรณพ อัครนิธิยานนท์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยว่า ขณะนี้ราคาไข่ไก่ มีการปรับราคาขึ้นมา 0.10 บาทต่อฟองซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ราคาไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1) ปัจจัยด้านอุปทาน จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในหมวดไข่ไก่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 57 เป็นต้นมา โดยเฉพาะช่วงปลายปี 57 ถึง ต้นปี 58 เพราะมีสภาพอากาศเย็นเหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ กอปรกับผู้ประกอบการมีการดูแลเอาใจใส่ควบคุมคุณภาพ และการป้องกันโรคระบาดที่ดี ส่งผลให้ 5 เดือนแรกของปี 58 ผลผลิตไข่ไก่ขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และคาดว่าจะหดตัวลงหลังจากนี้เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกไข่ของไก่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่อราคาไข่ไก่ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต หากอุปสงค์ไม่ปรับสูงขึ้นตาม และ 2) ปัจจัยด้านต้นทุน เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่ของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เป็นต้นทุนของอาหารสัตว์ โดยมีข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งต้นทุนด้านค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงเรือนแบบระบบปิดที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ ดังนั้น อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะทำให้ต้นทุนส่วนนี้สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นการปรับตัวที่ต่ำกว่าการสูงขึ้นของต้นทุน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบกับปัญหาขาดทุน เกษตรกรจึงควรปรับกลยุทธ์มองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อเลี่ยงปัญหาการขาดทุนให้ได้
2. เอกชน ลุ้นปลายปีกำลังซื้อฟื้นกระตุ้นศก.
  • นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. 58 พบว่า ดัชนีมีค่าเท่ากับ 38.9 เท่ากับเดือน พ.ค. ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่าเท่ากับ 32.5 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคตหรืออีก 3 เดือนข้างหน้ามีค่าเท่ากับ 43.2 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ส่วนหนึ่งเป็นมาจากผู้บริโภคมีความวิตกกังวลต่อภาวะค่าครองชีพ และเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในเดือน พ.ค.58 ที่ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ สะท้อนได้จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงส่งสัญญาณแผ่วลง ประกอบกับการส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไปซ้ำเติมความกังวลของผู้บริโภค เนื่องจากภัยแล้งทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน พืชไร่ได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมของหอการค้าไทย(เดือน มิ.ย.58 อยู่ที่ระดับ 63.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 65.0) พบว่ายังอยู่ในทิศทางเดียวกันคือความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่ดีเท่าที่ควร
3. จีนเผยการส่งออกเดือน มิ.ย.58 ฟื้นตัวร้อยละ 2.1 ขณะนำเข้าลดลงร้อยละ -6.7
  • สำนักงานศุลกากรจีนเปิดเผยว่า การส่งออกของจีนในรูปสกุลเงินหยวนในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ร่วงลง -2.8 ในเดือน พ.ค. 58 ส่วนการนำเข้าในรูปสกุลเงินหยวนในเดือน มิ.ย.58 หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 58 พุ่งขึ้นร้อยละ 45 แตะ 2.842 แสนล้านหยวน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกที่กลับมาขยายตัว สะท้อนถึงอุปสงค์จากต่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงทรงตัว นอกจากนี้จากการที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน มิ.ย. 58 ลง 25bps และการปรับลดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้ดีขึ้น แม้ว่าด้านอุปทานยังคงชะลอตัว จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC เดือน มิ.ย. 58 ที่อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ซึ่งถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงชะลอตัว แม้ว่าพื้นที่เขตเมืองใหญ่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ดี ด้านเสถียรภาพยังอยู่ในระดับดี จากอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดย สศค. คาดว่า GDP ของจีนในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 7.0 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ