รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 7, 2015 11:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2558

Summary:

1. ก.พาณิชย์ปรับลดคาดการณ์การส่งออกปี 58 เป็นร้อยละ -3.0

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไทยเดือนก.ค. 58 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

3. ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 58 ของเยอรมนีขยายตัวร้อยละ 7.2

1.ก.พาณิชย์ปรับลดคาดการณ์การส่งออกปี 58 เป็นร้อยละ -3.0
  • สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ประกาศปรับลดคาดการณ์มูลค่า ส่งออกของไทยในปี 58 มาอยู่ที่ 220,698 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.0 ลดลงเมื่อเทียบกับการประมาณการครั้งก่อนที่คาดไว้ที่ขยายตัวร้อยละ1.2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดประมาณการการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้สอดคล้องกับมุมมองของ สศค. ที่เพิ่งมีการประกาศปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลงเมื่อเดือน ก.ค. 58 โดย สศค. คาดว่ามูลค่าส่งออกในปี 58 จะหดตัวร้อยละ -4.0 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.0 ถึง -6.0) เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่พึ่งพา การส่งออกเป็นหลักต่างได้รับผลกระทบในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จากอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ที่ไม่เพียงส่งผลลบในทางตรงต่อการส่งออกของไทยไปจีน แต่ยังส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การทรงตัวในระดับต่ำของราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำตาล และยางพารา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง แม้ว่าปริมาณการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ลดลงนัก ทั้งนี้ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณเพิ่มเติมว่า การประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. ที่จะประกาศในเดือน ก.ย. 58 นี้ ก็คาดว่าจะมีทิศทางการปรับลดลงสอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ และ สศค.
2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือนก.ค. 58 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในเดือนก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 62.6 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 63.8 จุด นับเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และลดลงต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน ผลจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ การส่งออกที่ยังคงอ่อนแอ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 อยู่ที่ระดับ 66.1 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 57 ที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคในประเทศที่ยังมีความกังวลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปอย่างเปราะบาง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 58 ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่ปรับลดลงในเดือน ก.ค. 58 นั้น อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศที่อาจมีความระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 2 ปี 58 ที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยที่เอื้อการบริโภคภาคเอกชน
3. ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 58 ของเยอรมนี ขยายตัวร้อยละ 7.2
  • สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 58 ของเยอรมนีขยายตัว ร้อยละ 7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดสั่งซื้อ ในประเทศขยายตัวร้อยละ 0.9 ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมของเยอรมนีมีปัจจัยหลักจากการขยายตัวของยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสินค้าในหมวดสินค้าทุนที่ขยายตัวถึงร้อยลละ 16.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินยูโรที่ ณ วันที่ 7 ส.ค. 58 อ่อนค่าลงร้อยละ -10.2 จากต้นปี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ นอกยูโรโซน ใช้โอกาสที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าสั่งซื้อเครื่องจักรและสินค้าทุนจากเยอรมนี ซึ่งการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศทำให้คาดได้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีและเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาส 2 ปี 58 จะได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าค่อนข้างมาก โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 มูลค่าการส่งออกสินค้าของของเยอรมนีและยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 6.2 และร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยอดสั่งซื้อภายในประเทศที่ขยายตัวไม่สูงมากนัก สะท้อนการบริโภคภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 58 เศรษฐกิจยูโรโซน จะขยายตัวร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ