รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 24, 2015 11:13 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -9.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin (เบื้องต้น) ของจีน เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.1 จุด
  • มูลค่าส่งออกของยูโรโซน เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าส่งออกของอินโดนีเซีย เดือน ก.ค. 58 หดตัว ร้อยละ -19.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อเดือนของมาเลเซีย เดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน ก.ค. 58 ยังคงหดตัว ที่ร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators            Forecast  Previous
July : MPI (%YOY)       -6.1      -8.0
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ปรับตัวลดลงต่ำสุด ในรอบ 14 เดือน และลดลงต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่มีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาจช่วยกระตุ้นคำสั่งซื้อได้บ้าง
Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%yoy) หรือคิดเป็นการขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.3 หลังขจัดผลทางฤดูกาล (%qoq_sa)โดยในด้านการใช้จ่ายได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ โดยขยายตัวร้อยละ 4.6 และ 24.7 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 1.0 ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการ หดตัว -0.3 ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านการผลิต พบว่าปรับตัวดีขึ้นในภาคบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาคมนาคมขนส่ง และสาขาตัวกลางทางการเงิน ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.7 และการผลิตสาขาเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.9
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.4 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ ทั้งกลุ่มธัญพืช กลุ่มไม้ผล และกลุ่มพืชน้ำมัน โดยหมวดพืชผลสำคัญ ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ช่วงที่ปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวเปลือก ที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -85.6 ในขณะที่ ผลผลิตมันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน กลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.-ก.ค.) ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ก.ค.58 หดตัวร้อยละ -6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.6 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล(%mom_sa)โดยสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 18 เดือน ทั้งนี้ในเดือน ก.ค. 58 ดัชนีราคาฯ หดตัวตามราคายางพารา ที่ราคาลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และไม่มีอุปสงค์ภายนอกจากการที่เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัว กอปรกับการลดลงของราคาสินค้าในหมวดปศุสัตว์จากผลผลิตที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้ง สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ รวมทั้งผลผลิตในหมวดประมง ทำให้ราคาสินค้าในหมวดนี้ยังคงหดตัวตามอุปทานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค.ก.ค.) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้หดตัวร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และลดลงต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่มีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาจช่วยกระตุ้นคำสั่งซื้อได้บ้าง

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงจากเดือนก่อน ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลง จากยอดสร้าง ทาวน์โฮมส์และคอนโดมิเนียมที่หดตัวเป็นหลัก ยอดใบอนุญาตสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -16.3 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการหดตัวของที่อยู่อาศัยทุกประเภท ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 552,000 หลัง หรือขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากที่อยู่อาศัยทุกประเภท ราคากลางบ้านมือสอง เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ 234,000 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อน ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากทั้งรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวและรถบรรทุกที่ขยายตัวเร่งขึ้น

China: worsening economic trend

ราคาบ้านใหม่ เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อน สะท้อนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มทรงตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin (เบื้องต้น) เดือน ส.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.1 จุด ลดลงจากระดับ 47.8 จุดในเดือนก่อน และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา

Eurozone: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน มิ.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกับมูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.6 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 26.4 พันล้านยูโร เกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีกรีซ ประกาศลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่สามารถรักษาสัญญาการต่อต้านการรัดเข็มขัดทางการคลังที่ให้ไว้กับประชาชนได้ โดยกรีซจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ย. 58 นี้

Japan: mixed signal

GDP ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการส่งออกที่หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญที่ชะลอลงเป็นหลัก ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -3.2 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -2.7 แสนล้านเยน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน บ่งชี้การฟื้นตัวของภาคการผลิตหลังจากที่เงินเยนอ่อนค่า เอื้อแก่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก

Hong Kong: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยได้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่การส่งออกยังคงซบเซา GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นจากการรายงานครั้งก่อนที่ร้อยละ 2.1 โดยคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อัตราว่างงาน เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดสาธารณูปโภคที่ปัจจัยฐานต่ำสิ้นสุดลง ทำให้อัตราการขยายตัวของราคาสินค้าในหมวดนี้ที่มากกว่าปกติสิ้นสุดลง

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -19.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และหดตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี จากการหดตัวทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันที่หดตัวสูง มูลค่านำเข้า เดือน ก.ค. 58 หดตัวสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ -28.4 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เช่นกันจากการหดตัวทุกหมวดสินค้าเช่นกันทั้งนี้ การนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ค. 58 เกินดุล 10.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากเดือนก่อน เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 58 ธนาคารกลางอินโดนีเซียตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 7.50 ต่อปี

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ค. 58 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเกือบทุกหมวดที่เร่งตัวสูงขึ้น

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 58 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปยังตลาดหลักอาทิ สหรัฐฯ จีน และกลุ่มยูโรโซนที่ชะลอตัว ส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดุลการค้า 6.0 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Australia: worsening economic trend

ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากยอดขายรถยนต์นั่งที่หดตัวและรถสปอร์ตที่ชะลอตัว

United Kingdom: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาอาหารและเครื่องดื่ม และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากการขยายตัวของหมวดร้านค้าและเครื่องใช้ภายในบ้าน ขณะที่ยอดขายในหมวดเครื่องนุ่งห่ม อาหาร และสถานีบริการน้ำมันหดตัวจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ลดลงมากจากสัปดาห์ก่อนและต่ำกว่าระดับ 1,440 จุด โดย ณ วันที่ 20 ส.ค. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,372.53 จุด ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 2 เดือน ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 51,522.8 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ สถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจาก 1) เหตุระเบิดที่ราชประสงค์และท่าเรือสาธรในช่วงต้นสัปดาห์ 2) ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 58 ขยายตัวเปราะบาง 3) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง และ 4) การปะทะระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สร้างความกังวลแก่นักลงทุน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-20 ส.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 14,603.1 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ 1-13 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนชาวต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ เนื่องจากการเข้าซื้อกองทุนรวม 4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่ม บลจ. ที่ซื้อสุทธิถึง 3 หมื่นล้านบาท และรายงาน FOMC Minute ณ เดือน ก.ค. 58 ที่ทำให้นักลงทุนคาดว่า Fed จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ก.ย. 58 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 ส.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 5,339.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 20 ส.ค. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 35.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.96 จากสัปดาห์ก่อน เป็นในทิศทางเดียวกับค่าเงินส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.75 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ