รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 3, 2015 15:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 กันยายน 2558

Summary:

1. รองนายกฯ สมคิด เร่งพาณิชย์กระตุ้นส่งออก

2. กกร.เตรียมทบทวนเป้าจีดีพี. -ตัวเลขส่งออก

3. ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใน 12 เขตเศรษฐกิจ ยังคงขยายตัว

1. รองนายกฯ สมคิด เร่งพาณิชย์กระตุ้นส่งออก
  • รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังการมอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ โดยให้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและผลักดันการส่งออกช่วงที่เหลือของปีนี้ให้เพิ่มขึ้น แม้ที่ผ่านมาการส่งออกจะติดลบต่อเนื่อง 7 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกที่หดตัวร้อยละ -4.7 ต่อปี เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงโดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ามาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัวลง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดโลก ทำให้การนำเข้าเกือบทุกประเทศทั่วโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ยังมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และน้ำตาล รวมถึงการใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทำให้เงินบาทของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่น จึงทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยากและมีราคาแพงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และทำให้ความต้องการซื้อสินค้าไทยลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในภาวะการส่งออกที่ชะลอลงทั่วโลก การส่งออกไปยังอาเซียน โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มอินโดจีน-4 ที่มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 9.1 ของมูลค่าการส่งออก โดยในช่วง 7 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 58 จะหดตัวที่ร้อยละ -4.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 58)
2. กกร.เตรียมทบทวนเป้าจีดีพี. -ตัวเลขส่งออก
  • ประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร. จะพิจารณาทบทวนตัวเลขการส่งออก และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ปี 58 ใหม่ในการประชุมเดือนตุลาคมนี้ โดยจะขอรอตัวเลขเศรษฐกิจที่จะสิ้นสุดในไตรมาส 3 ก่อน จากเดิมที่ กกร. คาดว่า ส่งออกปีนี้จะติดลบร้อยละ 2.0 ต่อปี และ GDP จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/58 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 และจากสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 62.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าและถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.6 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันตามการผันผวนและชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของปี 58 จะหดตัวที่ร้อยละ -4.0 ต่อปี และ GDP ปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 โดยมีภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดพบว่า ในเดือน ก.ค. 58 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 39.4 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 17.2 ต่อปี
3. ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใน 12 เขตเศรษฐกิจ ยังคงขยายตัว
  • รายงานภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ใน 12 เขตเศรษฐกิจ (Beige Book) พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตั้งแต่ ก.ค. ถึงกลางเดือน ส.ค. 58 ยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยถึงปานกลางในเกือบทุกเขต ทั้งนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างขยายตัวอย่างแข็งแรง ราคาบ้านปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ ส่วนภาคการผลิตโดยรวมเป็นไปในทิศทางบวก แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากอุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัวและการลดลงของราคาพลังงานทำให้อุปสงค์สำหรับเครื่องจักรลดลง นอกจากนี้เงินดอลล่าร์แข็งค่าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเอเซียยังเป็นปัจจัยฉุดให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวได้เกือบทุกเขต สอดคล้องกับ การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 58 ที่เพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง และประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/58 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 3.3 (annual rate) ซึ่งเป็นการปรับทบทวนเพิ่มขึ้นจากประมาณการเบื้องต้นที่ร้อยละ 1.3 และเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4/56 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากผลผลิตและจำนวนชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เงินดอลล่าร์แข็งค่าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเอเซียยังเป็นปัจจัยฉุดให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง และทำให้สินค้าของสหรัฐฯ สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุตสาหกรรมผลิตเหล็กในสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวเนื่องจากผู้ซื้อในประเทศนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่า ทั้งนี้ ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ล่าสุดนี้ ยังไม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.หรือไม่

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ