รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2015 10:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 กันยายน 2558

Summary:

1. เร่งอัดงบลงทุนรัฐกว่า 2 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 58

2. ก.พลังงานคาดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศถึง Q4 ของปี 58 ทรงตัวถึงปรับลง

3. ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ ในเดือนก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. เร่งอัดงบลงทุนรัฐกว่า 2 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 58
  • ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประเมินว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 58 (หรือไตรมาสที่ 1 ปี งบประมาณ 59) รัฐบาลจะสามารถผลักดันงบลงทุนของรัฐบาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1. งบลงทุนส่วนราชการ 8.6 หมื่นล้านบาท 2. งบกระตุ้นเศรษฐกิจตามมิติครม. 1 ก.ย. 58 เม็ดเงิน 3.62 หมื่นล้านบาท 3. งบลงทุนในโครงการขนาดเล็ก ไม่เกิน 1 ล้านบาทติ่อโครงการ เม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาท และ 4. งบลงทุนปีงบประมาณ 58 ที่จะมาเบิกจ่ายไตรมาสแรกปี 59 อีก 6.8 หมื่นล้านบาท รวมทั้งหมด 2.3 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) การเร่งเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาลกว่า 2 แสนล้านบาทนั้น จะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีที่มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการหดตัวของภาคส่งออก 2) จากผลการศึกษา Sensitivity analysis จาก Macroeconomic Model ของ สศค. พบว่า การลงทุนของภาครัฐ 1 แสนล้านบาท จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ (Real GDP) ได้ร้อยละ 0.4 ต่อปี 3. เศรษฐกิจไทยปี 58 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5-3.5) ประมาณการ ณ เดือน กรกฎาคม 58 จับตา: มาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
2. ก.พลังงานคาดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศถึง Q4 ของปี 58 ทรงตัวถึงปรับลง
  • นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่าราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศช่วงจากนี้จนถึง Q4 ของปี 58 จะอยู่ในระดับทรงตัว และมีโอกาสปรับลดลง ทั้งในกลุ่มราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในภาคขนส่งและต่อภาคอุตสาหกรรม โดยน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ของตลาดน้ำมันโลกเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนจากการเร่งผลิตของผู้ผลิตสำคัญทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมาและประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีทีท่าว่ายังไม่ประกาศลดกำลังการผลิต ส่งผลต่ออุปทานส่วนเกินในตลาดน้ำมัน ประกอบกับในช่วง 2 -3 เดือนที่ผ่านมาอุปสงค์ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนลดต่ำลง โดยสถานการณ์ทั้งสองส่วนจะทำให้ส่วนเกินด้านอุปทานจะยังคงอยู่และมีโอกาสทำให้ราคาปรับลดลงต่ำเป็นระยะเวลานานได้ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกสำคัญในประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ น้ำมันดีเซล กลุ่มแก๊สโซฮอล์ ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีอุปทานส่วนเกิน ทั้งนี้ สศค. ประเมิน ณ เดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ราคาน้ำมันดิบในปี 59 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นจากระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปีนี้ อย่างไรก็ดี ส่วนเกินด้านอุปทานอาจทำให้มีการปรับลดประมาณการราคาน้ำมันดังกล่าวลงทั้งในปี 58 และปี 59 จับตา: ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงที่เหลือของปี 58
3. ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ ในเดือนก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของสิงคโปร์ เปิดเผยยอดค้าปลีกของสิงคโปร์ในเดือนก.ค. 58 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดค้าปลีกของสินค้าประเภทยานยนต์ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 40.6 รองลงมาคือยอดค้าปลีกนาฬิกาข้อมือและอัญมณีปรับตัวขึ้นร้อยละ 11.7 (ทั้งนี้ หากไม่รวมถึงสินค้าในกลุ่มยานยนต์ ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงที่เหลือของปี ส่งสัญญาณชะลอตัวกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนจาก 1. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือน ก.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.1 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการผลิตสินค้าโดยรวมหดตัวต่อเนื่องเกือบทุกหมวด อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยา และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และ 2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ในเดือน ส.ค. 58 ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.3 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จับตา: ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3 ปี 58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ