รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 1, 2015 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2558

Summary:

1. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ชี้บาทอ่อนยาวถึงปี 59 เห็นสัญญาณผู้นำเข้าแห่ทำเฮดจิ้ง

2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนส.ค. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

3. ธนาคารกลางจีนเพิ่มสัดส่วนสำรองทองคำอีกร้อยละ 1 ในเดือนส.ค. 58

1. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ชี้บาทอ่อนยาวถึงปี 59 เห็นสัญญาณผู้นำเข้าแห่ทำเฮดจิ้ง
  • ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มผู้ประกอบการจะหันมาป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีเงินบาทอ่อนค่าถึง 11% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถ้าเทียบทั้งปีจะอ่อนค่าอยู่ที่ 12% โดยที่เทียบกับค่าเงินหยวนในช่วง 6 เดือนแรก และทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ทั้งนี้ ธนาคารมองกรอบเงินบาทปีนี้อยู่ที่ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 59 กรอบเงินบาทจะอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่ต้นปี 58 จนถึงปัจจุบัน มีเงินทุนไหลออก (Portfolio outflows) สุทธิประมาณ 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการไหลออกจากตลาดหุ้นไทยประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลาดพันธบัตรประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดการเงินไทยมีความผันผวนตามความผันผวนของตลาดการเงินโลก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองหลักทรัพย์และพันธบัตรของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียในภาวะที่ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของจีนมีมากขึ้น ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดังกล่าวสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค เช่น ดอลลาร์สิงคโปร์ และริงกิต อ่านค่าลงต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 7.5% และ 21.8% ตามลำดับ
2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนส.ค. 58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนส.ค. 58 หดตัว 8.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 17 เดือน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอยู่ที่ 57.77% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 58.67%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 58 ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำลง ทำให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ หมวดอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวในเดือน ส.ค. 58 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -25.1 ซึ่งมาจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวทั้งหมดถึงร้อยละ -26.8 ตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง เครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวร้อยละ -14.9 โดยเฉพาะเครื่องรับโทรทัศน์ที่ลดลงถึงร้อยละ -74.5 ตามกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง และสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ส.ค. 58 ที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 82.4
3. ธนาคารกลางจีนเพิ่มสัดส่วนสำรองทองคำอีกร้อยละ 1 ในเดือนส.ค. 58
  • ธนาคารกลางจีนได้เพิ่มสัดส่วนสำรองทองคำจำนวนร้อยละ 1 ในช่วงเดือน ส.ค.58 ส่งผลให้สำรองทองคำของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 54.4 ล้านทรอยออนซ์ จากเดือน ก.ค. 58 ที่อยู่ที่ระดับ 53.9 ล้านออนซ์ โดยที่ผ่านมาจีนได้พยายามหาทางกระจายการลงทุนในสำรองเงินตราต่างประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางจีนได้เปิดเผยข้อมูลการสำรองทองคำเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี (นับตั้งแต่ปี 52) เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 58 โดยจุดประสงค์ของการเปิดเผย คือ จีนต้องการจะสร้างความโปร่งใสให้กับตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศมากขึ้น และเพื่อต้องการนำเงินหยวนเข้าไปมีบทบาทในตะกร้าเงิน SDR ในอนาคต และภายหลังจากที่จีนเริ่มประกาศสำรองทองคำนับจากเดือน ก.ค. 58 พบว่า ปริมาณทองคำสำรองของจีน ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 58 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.32 ล้านออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.0 จากระดับ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 52 การเพิ่มขึ้นของปริมาณทองคำสำรองจำนวนมากนั้น ส่งผลให้จีนมีทองคำสำรองสุงสุดติด 1 ใน 5 ของโลก และภายหลังที่จีนได้เริ่มเปิดเผยปริมาณทองคำสำรองจะเห็นได้ว่า สำรองทองคำของจีนค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มปริมาณทองคำสำรองสะท้อนให้เห็นว่า จีนมีมุมมองในการใช้ทองคำมาเป็นบทบาทสำคัญในระบบการเงินในฐานะทุนสำรองของธนาคารกลาง และจีนต้องการกระจายความเสี่ยงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของตนให้ออกจากดอลลาร์ แต่การเพิ่มขึ้นในปริมาณทองคำของจีนยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากการสำรองทองคำสุทธิของธนาคารกลางจีนยังคงน้อยกว่าร้อยละ 2.0 ของยอดเงินทุนสำรองต่างประเทศทั้งหมดของจีน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ