รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 2 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2015 13:42 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนส.ค. 58 ปีงปม. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ต่อปี ขณะที่ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากปีก่อน
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ส.ค. 58 เกินดุลจำนวน 26.4 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.4 ขณะที่ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 24.7 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค.58 หดตัวที่ร้อยละ-8.3 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย. 58 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี
  • การส่งออกในเดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.7 oขณะที่ การนำเข้าในเดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.8
  • หนี้ภาคครัวเรือน ไตรมาส 2 ปี 58 อยู่ที่ 10.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80.6 ของ GDP
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.1 oขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0
  • GDP เวียดนาม ไตรมาส 3/58 ขยายตัวร้อยละ 6.8

Indicator next week

Indicators                      Forecast   Previous
Sep : Motorcycle Sales (%YOY)     -6.0      -6.4
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ กอปรกับราคาของสินค้าเกษตรที่ปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงซบเซา และส่งผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์
Economic Indicators: This Week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนส.ค. 58 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 148.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 138.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 116.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ต่อปี (2) รายจ่ายลงทุน 22.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.2 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 6.6 พันล้านบาท รายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม 4.8 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนของรัฐวิสาหกิจ 3.4 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 9.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม. 58 ในช่วง 11 เดือนแรกปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ 2,201.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 85.5 ของวงเงินงปม.
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือน ส.ค. 58 ได้ทั้งสิ้น 226.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากปีก่อน ขณะที่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 38.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละร้อยละ -14.5 ซึ่งมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.1 จากปีก่อน ตามการการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าและฐานการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงร้อยละ -7.5 และ -1.6 จากปีก่อน ขณะที่ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 จากปีก่อน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 และ 5.9 จากปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค. 57 - ส.ค. 58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ทั้งสิ้น 1,999.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากปีก่อน แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร 113.2 พันล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ -5.4
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ส.ค. 58 พบว่า ดุลงบประมาณเกินดุลจำนวน 26.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 4.0 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 30.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -451.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปแล้วทั้งสิ้น 234.4 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 58 มีจำนวน 265.5 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ส.ค. 58 มีมูลค่า 55.5 พันล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.8 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้ว (mom_sa)ตามการหดตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -5.9 ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ระดับราคาคงที่ ยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - ส.ค.) ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ส.ค. 58 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 8.4 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-om SA) พบว่าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.8 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี
Economic Indicator: This Week
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย. 58 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปีตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของเดือน ก.ย. 58 ที่หดตัวร้อยละ -18.2 ต่อปี เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลง
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเดือน ส.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.60 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 24.7 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 39.4 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.2 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 58 เป็นผลให้นักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคเดินทางเข้ามาในไทยลดลง โดยเฉพาะตะวันออกกลางและ แอฟริกาที่มีการหดตัวที่ร้อยละ -11.9 และ -6.7 ต่อปี ตามลำดับ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค.58 ยังคงหดตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ-8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยมีปัจจัยลบจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิทยุ โทรทัศน์ และการปั่นทอ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี มีบางอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยานยนต์ และอาหาร ทั้งนี้ หากพิจารณาแบบปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (%mom_sa) พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.1
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.8 ต่อเดือนหลังหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงหดตัวร้อยละ -5.2
  • การส่งออกในเดือน ส.ค. 58 มีมูลค่า 17,669.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ -6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.6 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัว ร้อยละ -10.5 ตามการหดตัวของข้าว มันสำปะหลัง และอาหารเป็นสำคัญ ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.9 และ -3.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าในหมวด ยานยนต์ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -3.1 และปริมาณการส่งออกสินค้า หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -3.7 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรก ของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.9
  • การนำเข้าในเดือน ส.ค. 58 มีมูลค่า 16,948.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -4.8 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.7 จากสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -24.8 ตามการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าที่ใช้ในภาคการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับสินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ที่ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 7.7 และ 35.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าวัตถุดิบ ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -43.3 และ -1.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -12.1 และปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -8.2 และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค. 58 เกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ส.ค.58 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,736.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 18.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 96.6 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 93.9 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicator: This Week
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ส.ค.58 เกินดุล 2,649.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,159.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น โดยเกินดุลที่ 2,906.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้แม้ว่าการส่งออกจะหดตัวในระดับสูง จากหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ที่ราคาในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ และปริมาณอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัว รวมถึงหมวดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลังที่หดตัว แต่การนำเข้าก็หดตัวในระดับสูงเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำดังกล่าว และจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนที่มีการเปิดโรงกลั่นหลังปิดซ่อมบำรุง ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ 257.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขาดดุลลดลงจากเดือนก่อน จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างประเทศในไทย ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลทั้งสิ้น 19,344.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ส.ค.58 มียอดคงค้าง 15.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการบริโภคขยายตัวทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ส.ค.58 มียอดคงค้าง 16.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เงินฝากหดตัวร้อยละ -0.2 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยอัตราการขยายตัวที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับยอดเงินฝากของเดือนก่อนหน้าจะเห็นว่ายอดเงินรับฝากหดตัวเล็กน้อย
  • หนี้ภาคครัวเรือน ไตรมาส 2 ปี 58 อยู่ที่ 10.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80.6 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 79.9 ของ GDP โดยยอดหนี้คงค้างขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 10 ทั้งนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (สินเชื่อ Non-bank) ขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างทรงตัว ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวชะลอลง และสินเชื่อรถยนต์หดตัว
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -1.2 ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันและค่าโดยสารรถวิ่งระหว่างจังหวัด นอกจากนี้ อัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ft) ยังมีการปรับลดในรอบเดือนก.ย.-ธ.ค. 58 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ย. 58 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -6.0 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.4 ผลจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ กอปรกับราคาของสินค้าเกษตรที่ปรับตัวตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงซบเซา และส่งผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) สูงกว่าการประกาศครั้งก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 103.0 จุด สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ผลจากความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม แต่ดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี 4 เดือน จากดัชนีคำสั่งซื้อคงค้างและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงมาก

China: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย NBS เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 49.7 จุด ในเดือนก่อน สอดคล้องกับดัชนีเดียวกันโดย Caixin ที่อยู่ที่ระดับ 47.2 จุด เพิ่มขึ้นจาก 47.0 จุดในเดือนก่อน ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ โดย NBS เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อน ในขณะที่ดัชนีเดียวกันโดย Caixin อยู่ที่ระดับ 50.5 จุด ปรับลดลงจาก 51.5 จุดในเดือนก่อน

Japan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน ปิโตรเลียมและถ่านหินที่ขยายตัว ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าทั่วไป ยานยนต์ ยาและเครื่องใช้ในห้องน้ำ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ระดับ 51.0 จุด ลดลง 3 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่อง อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 58 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (เบื้องต้น) เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ในระดับติดลบอีกครั้งจากราคาพลังงานที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 58 ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ -7.1 จุด ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 52.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 11.0 ของกำลังแรงงานรวม

Taiwan: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 46.9 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 46.1 จุด ในเดือนก่อน

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 47.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง 1 ปี โดยดัชนีการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากราคาอาหารสดและสำเร็จรูปและค่าสาธารณูปโภคที่ลดลง

India: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุดต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แต่ยังคงบ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสากรรม โดยคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตชะลอตัว

Singapore: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.6 จุด จาก 49.3 จุดในเดือนก่อนจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ลดลง

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 47.9 จุด ในเดือนก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -8.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ -14.9 ในเดือนก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -21.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -18.3 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 58 เกินดุล 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากภาคก่อสร้างที่ขยายตัวเร่งขึ้นในระดับสูง ยอดค้าปลีกเดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 12.1 ในเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย. 58 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 8.2 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 58 ทรงตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาสินค้าทุกหมวดยังคงลดลงต่อเนื่อง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ปรับตัวลดลง

UK: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 51.5 จุด ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

Australia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ดัชนีผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 52.1 จุด เพิ่มขึนจากภาคส่งออกที่ได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างเฉลี่ยปรับลดลง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงประมาณ 30 จุด จากสัปดาห์ก่อน และเคลื่อนไหวลดลงในกรอบแคบ ทำให้ดัชนีฯ ณ 1 ต.ค. 58 ปิดที่ระดับ 1,345.2 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 34,274.2 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนชาวต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากตัวเลขผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ติดลบในระดับสูง ความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ ธปท. และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 58 ลงเหลือ ร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 1 ต.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 5,864.7 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 3 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อในช่วงปลายสัปดาห์ หลังกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 58 ติดลบเป็นเดือนที่ 9 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 ก.ย. - 1 ต.ค. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 3,323.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 1 ต.ค 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 36.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.28 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลภูมิภาค ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.26 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ