รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2015 16:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย Q3/58 เพิ่มขึ้นจาก Q2/58

2. ทัวร์จีน ปัจจัยเสริมเศรษฐกิจไทย

3. Moody's คงอันดับเครดิตสหรัฐฯ ที่ระดับ AAA

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย Q3/58 เพิ่มขึ้นจาก Q2/58
  • ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ แถลงว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 3 ปี 58 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) มีค่าเท่ากับ 52.2 สูงกว่าค่ากลาง และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 2/58) ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 50.4 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย มีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นทั้งในด้านยอดขายและการเปิดตัวโครงการใหม่หรือเฟสใหม่ โดยจากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า ในเดือน ก.ค. 58 จำนวนการเปิดขายอาคารชุดยังอยู่ในระดับสูง โดยส่วนใหญ่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าและมีระดับราคาปานกลาง สำหรับเดือน ส.ค. 58 ผู้ประกอบการเปิดโครงการอาคารชุดใหม่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ ปัจจัยบวกในการสนับสนุนการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยลบที่ต้องจับตามองและอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ที่ช้ากว่าอุปทาน เนื่องจากครัวเรือนยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย ประกอบกับสถาบันการเงินยังระมัดระวังการให้สินเชื่อ
2. ทัวร์จีน ปัจจัยเสริมเศรษฐกิจไทย
  • หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า ภายหลังจากที่ไทยต้องเผชิญกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งร้ายแรงที่สุดใน ประวัติศาสตร์ จากเหตุระเบิดกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 58 แต่จนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามาในไทย โดยเดือน ส.ค. 58 สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งการที่นักท่องเที่ยวไม่ได้ลดลงในระยะสั้น มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่แย่ไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี และเมื่อปราศจากการสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวจะโตเพียงร้อยละ 0.8 ต่อปี ดังนั้น หากปราศจากภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยอาจไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ ในจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากจากจีนเป็นหลัก โดยคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย มากกว่า 5 ปีที่แล้ว ที่น้อยกว่าร้อยละ 10 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ภายใน 2 ปีข้างหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ช่วง 8 เดือนแรกในปี 58 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 20.11 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 30.1 ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 9.52 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.7 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนที่มีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 76.7 ต่อปี ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศมีบทบาทเทียบกับ GDP เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.4 จากร้อยละ 8.7 ในปี 57 ทั้งนี้ หากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง 1 ล้านคน จะทำให้ GDP ลดลงประมาณร้อยละ 0.15 อย่างไรก็ดี คาดว่าทั้งปี 58 จะเป็นไปตามเป้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้คาดการณ์รายได้จากภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยในว่าจะอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.4 ล้านล้านบาท และรายได้ในประเทศ 0.8 ล้านล้านบาท อนึ่ง ตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นไป ตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวจะมุ่งเน้นสร้างตัวเลขรายได้เป็นหลัก ไม่เน้นเรื่องของปริมาณอีกต่อไป โดยจะให้น้ำหนักกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่มีกำลังการใช้จ่ายต่อหัวสูงขึ้น และใช้เวลาพักในประเทศนานขึ้น
3. Moody's คงอันดับเครดิตสหรัฐฯ ที่ระดับ AAA
  • Moody's ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ไว้ที่ "AAA" ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดในการจัดอันดับแนวโน้มการมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ Moody's ระบุว่าอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวที่แข็งแรงของ GDP รวมทั้งสถานภาพของเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ Moody's ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯขยายตัวได้เกือบทุกกิจกรรม สอดคล้องกับประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/58 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในอัตราร้อยละ 3.3 (annual rate) และเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/56 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากผลผลิตและจำนวนชั่วโมงทำงานที่เพิ่มขึ้น สะท้อนได้จาก GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปีและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 103.0 จุด สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะเป็นสกุลเงินทุนสำรองของโลก และเป็น Bencmark ของตลาดพันธบัตรโลก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯในเดือน ก.ย. เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payroll) อยู่ที่ระดับ 142,000 ตำแหน่ง ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ไว้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ