รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2015 11:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2558

Summary:

1. โตโยต้า เผยปริมาณจำหน่ายรถยนต์เดือนกันยายน 58 ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน

2. พาณิชย์กางแผนส่งออกปี 59 มุ่ง 50 เมืองจีดีพีสูง เป้าโตร้อยละ 4.0

3. อินโดนีเซียคาด GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.8-5.0

1. โตโยต้า เผยปริมาณจำหน่ายรถยนต์เดือนกันยายน 58 ขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน
  • โตโยต้า เผยปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 39,288 คัน หรือขยายตัวร้อยละ +1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพานิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากมีการเร่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์จากการที่จะมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 59 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ +2.4 ต่อเดือน ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3/2558 หดตัว ร้อยละ -0.3 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 14.2 ต่อไตรมาส สำหรับปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ในเดือน ก.ย. 58 มียอดจำหน่ายอยู่ที่ 31,670 คัน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกแล้วพบว่า ขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อเดือน ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันในไตรมาสที่ 3/2558 หดตัวร้อยละ -8.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ +14.2 ต่อไตรมาสหลังหักผลทางฤดูกาล จับตา: ยอดการผลิต ยอดขายและยอดการส่งออกยานยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 58
2. พาณิชย์กางแผนส่งออกปี 59 มุ่ง 50 เมืองจีดีพีสูง เป้าโตร้อยละ 4.0
  • พาณิชย์กางแผนยุทธศาสตร์ส่งออกปี 59 เน้นเจาะตลาดศักยภาพและขยายเข้าตลาดเมืองรองจับกลุ่มนิชมาร์เก็ตกำลังซื้อสูง พร้อมโชว์แผนงาน/กิจกรรมรายไตรมาส ขณะเร่งปฏิรูปโครงสร้างการส่งออกเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว มุ่ง 5 กลุ่มคลัสเตอร์ดาวเด่น "ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์"มั่นใจส่งออกปีหน้าขยายตัวร้อยละ 3-4 มุ่งเจาะ 50 เมืองจีดีพีสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 มีมูลค่า 142.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะ สหรัฐฯ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ขณะที่ตลาดส่งออกกลุ่ม CLMV ยังเป็นตลาดสำคัญที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง 2) การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 มีมูลค่า 137.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -8.2 ส่งผลให้ดุลการค้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี เกินดุล 4.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ3) หากพิจารณาการส่งออกของไทยในมิติภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือที่มีเขตการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า และ สปป.ลาว มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก กรุงเทพฯและปริมณฑล หดตัวที่ร้อยละ -4.9 -16.8 -4.9 -30.2 และ -3.1 ตามลำดับ จับตา: การส่งออกโค้งสุดท้ายไตรมาส 4 ปี 58 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทปี 59 รวมทั้งผลของมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่จะช่วยสนับสนุนภาคการลงทุนและการส่งออกของไทยในปีหน้า
3. อินโดนีเซียคาด GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.8-5.0
  • นายบัมบัง โบรโจเนโกโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย เปิดเผยว่ารัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.8 - 5.0 จากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 เนื่องจากรัฐบาลเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและการลงทุนมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจอินโดนีเซียเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ตามการลดลงของภาคการส่งออกเป็นสำคัญ โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 58 การส่งออกหดตัวไปแล้วที่ร้อยละ -13.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของสินค้าน้ำมันปาล์มดิบและสินค้าอุตสาหกรรม 2) การที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะมีการเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและการลงทุนมากขึ้น จะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจอินโดนีเซียในระยะต่อไป เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจอินโดนีเซียมีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยสัดส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ประมาณร้อยละ 55.0 และ 32.0 ของ GDP ในขณะที่การส่งออกมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 24.0 ของ GDP และ 3) สศค.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจอินโดนีเซียในเดือนต.ค. 58 นี้ จับตา: มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอินโดนีเซียในช่วงครึ่งหลังของปี 58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ