รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 22, 2015 13:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ตุลาคม 2558

Summary:

1. ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 59 เติบโตช่วงร้อยละ 3.6-3.7 ต่อปี

2. สศก. เผยภัยแล้งกด GDP ภาคเกษตร Q3/58 หดตัวต่อเนื่อง

3. อินโดนีเซียคาด GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.8-5.0 ต่อปี

1. ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 59 เติบโตช่วงร้อยละ 3.6-3.7 ต่อปี
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง โดยประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐประกาศในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในปีหน้า โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 59 เติบโตได้ราวร้อยละ 3.6-3.7 ต่อปี จากในปีนี้ที่น่าจะเติบโตได้ราว 2.7 ต่อปี ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะที่น่ากังวล และเชื่อว่าสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อเศรษฐกิจได้ แต่ยอมรับว่าเป็นห่วงผลกระทบจากราคาสินค้าตกต่ำ และระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่อาจทำให้การบริโภคภาคครัวเรือน ไม่สดใส
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว จากการใช้จ่ายภาคเอกชน และการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน กลุ่มระดับผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากระดับราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรในช่วง 9 เดือนแรกที่หดตัว โดยหดตัวที่ร้อยละ -5.9 และ -12.1 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.8 ต่อปีประกอบกับนโยบายเร่งรัดการkj เบิกจ่ายของภาครัฐตามโครงการต่างๆ อาทิ โครงการบริหารการจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบถนน เป็นต้น รวมถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ในที่เหลือของปี ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค.58 ว่าเศรษฐกิจในปี 58 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 - 3.5 ต่อปี ซึ่งจะมีการปรับประมาณอีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค. 58
2. สศก.เผยภัยแล้งกด GDP ภาคเกษตร Q3/58 หดตัวต่อเนื่อง
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 58 (ก.ค. - ก.ย. 58) พบว่า หดตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 57 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการเกษตรที่หดตัวลงมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 58 สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 58 ที่ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -6.3 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.3 และเมื่อหักผลทางฤดูกลาลออกพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อเดือน สะท้อนได้จากผลผลิตทางการเกษตรหลักที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และหมวดปศุสัตว์ ที่ขยายตัวร้อยละ 24.7 6.2 และ 5.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญโดยเฉพาะข้าวเปลือกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.ย. ผลผลิตข้าวเปลือกหดตัวร้อยละ -39.3 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 3 ปี 58 หดตัวร้อยละ -9.3 และตั้งแต่ต้นปี 58 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
3. อินโดนีเซียคาด GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวร้อยละ 4.8-5.0
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนนอกประเทศเป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ คิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านหยวน (786 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.1 และมีกำหนดไถ่ถอนในปี 2559
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนนอกประเทศของจีนในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงในการเจราจาทางเศรษฐกิจและการเงินจีน-อังกฤษครั้งที่ 7 เมื่อเดือน ก.ย. 58 โดยธนาคารกลางจีนคาดว่า การออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนนอกประเทศ จะช่วยให้จีนสามารถประเมินตลาดสกุลเงินหยวนในต่างแดนได้ ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน นอกจากนี้ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ยังเตรียมใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อเปิดทางให้บริษัทต่างๆ สามารถจดทะเบียนเพื่อออกตราสารหนี้ได้สะดวกขึ้น แทนที่จะต้องขออนุมัติเป็นรายบริษัทเช่นในปัจจุบัน โดยบริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จะได้รับการยกเว้นจากขั้นตอนการพิจารณาของ NDRC โดยการกระทำดังกล่าวของจีนเป็นไปเพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์เกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ เพื่อหนุนให้เม็ดเงินหลั่งไหลเข้าสู่บริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาสภาพคล่องในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ