เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2015 14:42 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องทั้งจากการส่งออกสินค้าของไทยและการใช้จ่ายภาคเอกชนผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวต่างชาติแม้ว่าจะขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 และ 2559 ต่อไป"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกันยายน 2558 และไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ยังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกันยายน 2558 ขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 ต่อเดือน โดยยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 8.0 ต่อเดือน ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.8 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมหดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวชะลอตัวที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 7.6 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ขณะที่ในเขตภูมิภาคยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัว -10.6 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -25.5 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -24.9 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อไตรมาส สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 61.2 จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัจจัยลบจากภาคการส่งออกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงไม่ดีขึ้น ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.8

                                                                                 2558
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน                      2557
                                                      Q1        Q2       Q3       ก.ค.     ส.ค.     ก.ย.     YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)                 0.4      1.0       1.7      -0.7     -1.8     -2.4      2.1      0.7
   %qoq_SA / %mom_SA                                 0.7      -0.5      -1.6     -2.9     -1.7      4.1        -
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)             1.5     10.8       2.0       1.5      1.4     10.4     -5.8      4.7
   %qoq_SA / %mom_SA                                -0.7      -3.9       0.1     -4.4      3.6     -2.3        -
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)              -41.4    -12.5     -27.3     -24.9    -25.1    -24.0    -25.5    -21.6
   %qoq_SA / %mom_SA                                -7.0     -13.7      -7.2      4.7     -1.5     -1.8        -
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)          -14.3     10.9      -2.9     -10.6    -23.2     -6.4     -0.7     -1.0
   %qoq_SA / %mom_SA                                 8.5     -12.1      -3.6    -27.4     18.7      7.6        -
รายได้เกษตรกรที่แท้จริง (สศค.)                  -9.0    -10.2      14.1     -25.5    -14.5    -13.2     -9.7    -12.1
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                         65.0     68.4      64.9      61.8     62.6     61.5     61.2     65.0

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกันยายน 2558 และไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี ขณะที่ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -6.1 ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -5.7 ต่อปี สำหรับ ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาหดตัวร้อยละ -12.6 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 3.3 ต่อไตรมาส ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเดือน โดยเป็นผลจากความนิยมในรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 14.2 ต่อไตรมาส สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาหดตัวร้อยละ -20.6 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัวร้อยละ -10.8 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบิน เรือ และรถไฟ หดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อไตรมาส

                                                                                         2558
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                               2557
                                                                Q1       Q2        Q3       ก.ค.      ส.ค.     ก.ย.      YTD
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)                 -2.2       7.3       2.9      -0.5       7.2      8.4    -12.6       3.1
   %qoq_SA / %mom_SA                                          -4.8      -4.8       3.3       1.4     -1.1     -3.8         -
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                           -3.2      -2.5      -0.2      -0.7      -2.0     -0.6      0.4      -1.2
   %qoq_SA / %mom_SA                                           0.8       1.7      -1.7      -2.9      0.2     -0.9         -
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง                                     0.7      -3.7      -4.4      -5.7      -5.3     -5.6     -6.1      -4.6
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)                    -26.8     -11.3     -17.3      -0.3      -3.1      0.9      1.2      -9.8
   %qoq_SA / %mom_SA                                          -7.2      -7.0      14.2       2.5      2.8      2.4         -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                             -7.6       0.9       2.1     -10.8     -22.1     17.9    -20.6      -2.9
   %qoq_SA / %mom_SA                                           0.5      -0.1      -6.2     -13.8      6.3     -0.6         -
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักครื่องบิน เรือ และรถไฟ (%yoy)         -4.8       0.1      -3.5      -2.3      -6.7     10.4     -8.9      -1.9
   %qoq_SA / %mom_SA                                          -1.0      -1.9       0.4      -6.6      7.3      1.7         -

3. การส่งออกสินค้าในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกันยายน 2558 มีมูลค่า 18.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.5 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ต่อเดือน จากปัจจัยการส่งออกได้ดีในกลุ่มการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวได้ร้อยละ 14.4 ต่อปี และการส่งออกทองคำที่ขยายตัวในอัตราที่สูง โดยการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐ ทวีปออสเตรเลีย และกลุ่ม CLMV ขยายตัวได้ร้อยละ 1.1 6.1 และ 4.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักสำคัญยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และกลุ่มอาเซียน-5 ที่หดตัวร้อยละ -1.7 -6.9 -9.5 และ -20.1 ต่อปี ตามลำดับ จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่า 16.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -26.2 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -15.3 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศในเดือนกันยายน 2558 เกินดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 เกินดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศคู่ค้าหลัก                               2557                                       2558
(สัดส่วนการส่งออกปี 56>>ปี 57)                             Q1         Q2        Q3         ก.ค.        ส.ค.        ก.ย.      YTD
ส่งออกไปทั้งโลก (%yoy)                        -0.4      -4.7       -5.0      -5.3        -3.6        -6.7        -5.5      -5.0
%qoq_SA / %mom_SA                                    -6.3       -1.1      -1.1         1.8        -4.1         3.7         -
1.จีน (11.9%>>>11.0%)                       -7.9     -14.4        1.2      -1.0        -1.6         0.4        -1.7      -5.0
2.สหรัฐฯ (10.0%>>>10.5%)                     4.1       5.6        2.6       0.2         1.4        -1.9         1.1       2.7
3.ญี่ปุ่น (9.7%>>>9.6%)                        -1.9      -9.2       -3.8      -7.9        -9.7        -7.1        -6.9      -7.0
4.สหภาพยุโรป (8.8%>>>9.2%)                   4.7      -3.9       -8.4      -4.4        -1.1        -2.3        -9.5      -5.6
5.มาเลเซีย (5.7%>>>5.6%)                    -1.9     -14.6      -18.3     -18.7       -16.8       -20.2       -19.1     -17.2
6.ฮ่องกง (5.8%>>>5.5%)                      -4.4     -11.5       -9.0      -2.0        -1.5        -7.2         1.2      -7.5
PS.อาเซียน-9 (26.0%>>>26.1%)                 0.2      -2.4       -5.9     -10.6        -4.5       -14.9       -11.8      -6.4
PS.อาเซียน-5 (17.6%>>>17.0%)                -3.9      -9.4      -11.8     -19.5       -13.1       -24.4       -20.1     -13.8
PS.อินโดจีน-4 (8.3%>>>9.1%)                   9.0      10.6        5.5       7.2        11.6         5.5         4.7       7.7

4. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนกันยายน และในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะขยายตัวชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า แต่ถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนกันยายน 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 2.03 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี โดยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เป็นผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยชะลอตัวลง และในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 7.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 24.3 ต่อปี สำหรับภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2558 หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออก พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อเดือน โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตยางพารา และมันสำปะหลังที่ขยายตัวได้ดี กอปรกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด ในขณะที่ผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -9.3 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวหลักมาจากราคาข้าวเปลือก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตมันสำปะหลังยังคงขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์จากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นเพื่อการผลิตเอธานอล ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ดัชนีราคาผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนกันยายน 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากการที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อจำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างขยายตลาดและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 82.7

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน                  2557                                   2558
                                                  Q1        Q2       Q3        ก.ค.      ส.ค.      ก.ย.    YTD
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม (%yoy)           -0.4     -3.9      -9.9     -9.3      -10.3     -11.3      -6.3    -7.4
   %qoq_SA / %mom_SA                             3.1     -10.1     -1.4       -1.0      -1.0       0.2       -
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น)             -4.6      0.1      -7.5      n.a.      -6.3      -8.3       n.a.   -4.5
   %qoq_SA / %mom_SA                            -1.3      -8.1    - 1.3       -0.1         -       -
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ)       87.4     89.6      85.2     82.7       83.0      82.4      82.8    85.7
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                 -6.5     23.1      37.6     24.3       39.4      24.7       8.7    27.8
   %qoq_SA / %mom_SA                             4.4       7.7     -1.8        6.0      -6.3      -8.8       -

5.ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายน 2558 อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี เป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันและค่าโดยสารรถวิ่งระหว่างจังหวัด นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ft) ยังมีการปรับลดในรอบเดือนกันยายน - ธันวาคม 2558 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ -1.1 และ 0.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.0 แสนคน ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2558 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับร้อยละ 42.8 ถือว่ายังอยู่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 155.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า

เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ                      2557                              2558
                                                      Q1       Q2      Q3     ก.ค.     ส.ค.    ก.ย.     YTD
ภายในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)               1.9     -0.5     -1.1    -1.1    -1.1     -1.2    -1.1     -0.9
เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                          1.6      1.5      1.0     0.9     0.9      0.9     1.0      1.1
อัตราการว่างงาน (yoy%)                        0.8      1.0      0.9     0.9     1.0      1.0     0.8      0.9
หนี้สาธารณะ/GDP                              42.8     43.3     42.4    42.8*   42.9     42.8     n.a.    42.8
ภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)        14.2      8.2      4.1     4.8**   2.1      2.6     n.a.    19.3
ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)                   157.1    156.3    160.3   155.5   156.9    155.8   155.5    155.5
ฐานะสุทธิ Forward  (พันล้าน $)                 23.1     19.7     18.4    13.3    17.6     13.7    13.3     13.0
ทุนสำรองทางการ/หนี้ ตปท.ระยะสั้น (เท่า)           2.7      2.9      2.9     2.8*    2.9      2.8     n.a.     2.9
*ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2558 **ข้อมูล 2 M/Q3

ทั้งนี้ แม้ว่าข้อมูลล่าสุดในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 จะสะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่ามาตรการการเงินการคลังที่กระทรวงการคลังได้ผลักดันตามนโยบายรัฐบาลโดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมานั้น จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 และ 2559 ต่อไป โดยมีความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ดังนี้

1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อกระจายการลงทุน การจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัดและผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึงเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาผลกระทบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเร่งการลงทุนภาครัฐ ประกอบด้วย

1.1 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน (สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน ดอกเบี้ยร้อยละ 0 วงเงินสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลล่าสุดธนาคารออมสิน อนุมัติสินเชื่อแล้ว 21,205 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้าน 21,143 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1,362,417 ราย เป็นเงิน 16,768 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อนุมัติสินเชื่อแล้ว 17,478 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้าน 17,478 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1,019,760 ราย เป็นเงิน 16,316 ล้านบาท

1.2 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล (ลงทุนตำบลละไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงิน 37,913 ล้านบาท) โดยล่าสุดสำนักงบประมาณโดยสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ฯ ทยอยพิจารณาอนุมัติรายละเอียดโครงการและค่าใช้จ่ายประกอบการจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 74,066 โครงการ วงเงินรวม 22,795 ล้านบาท (หรือคิดเป็นร้อยละ 51.06 ของวงเงินรวม) จำแนกเป็น 1) โครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จำนวน 19,081 ล้านบาท 2) โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 1,242 ล้านบาท และ 3) โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 2,473 ล้านบาท

1.3 มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ลงทุนหน่วยงานละไม่เกิน 1 ล้านบาท กรอบวงเงิน 24,000 ล้านบาท (เฉพาะงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของปีงบประมาณ 2558) โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามมาตรการสำหรับโครงการที่สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ จำนวน 19 ,268 ล้านบาท และได้อนุมัติเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 จำนวน 3,694 ล้านบาท ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2558 โดยสามารถก่อหนี้ผูกพันได้เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมจำนวนเงินที่อนุมัติแล้วทั้งสิ้นจำนวน 22,961 ล้านบาท

2. มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ โดยมีความคืบหน้า ดังนี้

2.1 โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs (Soft Loan SMEs ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ระยะเวลา 7 ปี วงเงินสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ธนาคารออมสิน มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 16,991 ล้านบาท ให้กับลูกค้า SMEs แล้ว 1,504 ราย

2.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 (ปรับปรุงใหม่) (ค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 30 ต่อพอร์ต วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการค้ำประกันสินเชื่อแล้วจำนวน 5,844 ล้านบาท ให้กับ SMEs จำนวน 1,534 ราย

3. มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งในส่วนของมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง นั้นธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดรับคำขอตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558 โดยมีผู้ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 6,200 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 7,500 ล้านบาท

---------------------------------------------------------

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ