รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 20 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2015 13:49 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน ต.ค. 58 มีจำนวน 2.23 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 0.95
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ยูโรโซน ไตรมาส 3 ปี 58 (เบื้องต้น) ขยายตัว ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ราคาบ้านใหม่ของจีน เดือน ต.ค. 58 ขยายตัว ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -15.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -16.6
  • มูลค่าการส่งออกของอินเดีย เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -17.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -21.2
  • มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซีย เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -21.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -27.8

Indicator next week

Indicators                   Forecast   Previous
Oct : Pass. Car Sales (%YOY)  -25.8      -25.5
  • จากผลของนโยบายรถคันแรกในช่วงก่อนหน้านี้ที่ประชาชนได้เร่งซื้อรถยนต์ไปแล้ว ประกอบกับปัญหาด้านภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้ของประชาชนยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในสินค้าคงทนประเภทรถยนต์
Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัว ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว โดยในด้านการใช้จ่ายได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว ร้อยละ 1.7 และ 15.9 ตามลำดับ ในขณะที่ ภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว ร้อยละ 1.8 ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการหดตัว ร้อยละ-2.4 ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านการผลิต พบว่าปรับตัวดีขึ้นในภาคบริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร และสาขาตัวกลางทางการเงิน ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.7
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือน ต.ค. 58 มีจำนวน 2.23 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 0.95 หรือขยายตัว เป็นครั้งแรกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้วอยู่ที่ ร้อยละ 1.9 ต่อเดือน นับจาก 2 เดือนก่อนหน้าที่มีการหดตัว สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 58 ที่ส่งผลต่อจิตวิทยาการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในไทยลดลงนั้นหมดลงแล้ว ทั้งนี้ เป็นนักท่องเที่ยวจากจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งขยายตัว ร้อยละ 13.1 ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทยแล้ว 24.4 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 24.7
Economic Indicator: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือน ต.ค. 58 คาดว่าจะหดตัว ร้อยละ -25.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -25.5 จากผลของนโยบายรถคันแรกในช่วงก่อนหน้านี้ที่ประชาชน ได้เร่งซื้อรถยนต์ไปแล้ว ประกอบกับปัญหาด้านภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้ของประชาชนยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในสินค้าคงทนประเภทรถยนต์

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในเดือนก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในเดือนก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนจากยอดค้าปลีกหมวดรถยนต์และอาหาร-เครื่องดื่มที่ชะลอลง และหมวดน้ำมันที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากเทียบกับเดือนก่อนพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.1 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.0 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการสร้างบ้านทุกประเภทที่หดตัว โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวที่ขยายตัว

China: mixed signal

ราคาบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 57 จากการเพิ่มขึ้นของราคาในเมืองใหญ่ เช่น เสินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ประกอบกับราคาในเมืองอื่นที่กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในหลายเมือง เช่น นานจิง หางโจว และเซี้ยเหมิน

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูการแล้ว) มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือน จากการส่งออกไปจีนและอาเซียนที่หดตัวลง ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -13.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเป็นเดือนที่ 10 ดุลการค้า เดือน ต.ค. 58 เกินดุล 1.1 แสนล้านเยน

Eurozone: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) แม้อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะชะลอลงเล็กน้อย แต่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศในไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย โดยดัชนีราคาหมวดพลังงานลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมากจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจาก ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการส่งออกที่ยังคงอ่อนแอ และการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวชะลอลง ทั้งนี้ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อน อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อน

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -15.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -8.4 ในเดือนก่อน นับเป็นการหดตัวในอัตราสูงที่สุดในรอบ 6 ปี สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -16.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -21.8 ในเดือนก่อน แต่เป็นการหดตัวในอัตราสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 58 เกิดดุล 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

India: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -17.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัวในอัตราสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -21.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวในอัตราสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เช่นกัน ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 58 ขาดดุล 9.8 พันล้านรูปี ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ -4.5 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่เริ่มกลับมาขยายตัวเร่งขึ้น

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -21.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงที่สุดในรอบ 3 ปี มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -27.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวในอัตราสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 58 เกินดุล 1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน พ.ย. 58 ที่ร้อยละ 7.5 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10

United Kingdom: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 ทรงตัวที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อน โดยคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดค้าปลีกทุกหมวดย่อยที่ปรับตัวลดลงถึงหดตัว

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อน

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -9.0 ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -12.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 58 เกินดุล 7.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวต่ำกว่า 1,400 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 19 พ.ย. 58 ปิดที่ระดับ 1,384.97 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 36,777 ล้านบาท โดยมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง และ เหตุการณ์ยิงปะทะในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 58 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบวกในช่วงต้นสัปดาห์ จากการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 58 ที่ดีกว่าคาด ขณะที่ปัจจัยบวกช่วงปลายสัปดาห์มาจากรายงานการประชุม FOMC ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งเพียงพอต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 58 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 5,047.6 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1-15 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-5 bps ผลจากแรงขายของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยนักลงทุนติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 19 พ.ย. 58 เกี่ยวกับผลการพิจารณาเพิ่มวงเงิน QE ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 16 - 19 พ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 5,974.1 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 19 พ.ย. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.28 จากสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ยกเว้นริงกิตมาเลเซียที่แข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทที่อ่อนค่าใกล้เคียงกับเงินสกุลส่วนใหญ่ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.03 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ