รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2015 11:47 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2558

Summary:

1. หอการค้ามั่นใจปี 59 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน

2. ธปท.เผย เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. ฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

3. ญี่ปุ่นเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค.58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

1. หอการค้ามั่นใจปี 59 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ปี 58 เหลือร้อยละ 3.0 จากที่เคยประมาณการไว้ในเดือน ก.ย. 58 ที่ผ่านมาว่า จีดีพีจะโตประมาณร้อยละ 3.1 เนื่องจากการส่งออกในปี 58 มีโอกาสหดตัวมากขึ้นถึงร้อยละ -5.3 จากที่เคยคาดการณ์การไว้เพียงร้อยละ -4.0 อย่างไรก็ดี จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมากำลังเริ่มเห็นผลมากขึ้น ทำให้จีดีพีทั้งปียังคงรักษาระดับอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ได้ ส่วนปี 59 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 58 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 2.6 - 3.1) โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักมาจากการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ และคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจไทยในปี 59 ให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและการใช้จ่ายนอกงบประมาณที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนพัฒนาระบบน้ำและทางถนน ซึ่งคาดว่าโครงการสำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และโครงการรถไฟรางคู่ จะสามารถเดินหน้าลงทุนได้มากขึ้นในปี 59 ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้ นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 59 ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอีก 2 ปัจจัยหลักที่คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 - 4.3)
2. ธปท.เผย เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. ฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ต.ค. 58 ว่า เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากการใช้จายในกลุ่มสินค้าจำเป็นและบริการ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค. 58 มีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ และบทบาทนโยบายการคลังผ่านการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินของ ธปท. ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 สะท้อนจากมาตรการการเงินการคลังที่กระทรวงการคลังได้ผลักดันตามนโยบายรัฐบาลที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ย. 58 เป็นต้นมา จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 58 และรวมถึงปี 59 ด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้แก่ (1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล (2) มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน (3) มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ (4) มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมการลงทุน และ (5) มาตรการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
3. ญี่ปุ่นเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4
  • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานเบื้องต้นว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.58 ปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีการขนส่งในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.1 แตะที่ 98.8 และดัชนีสต็อกสินค้าคงคลังภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลงร้อยละ -1.9 แตะที่ 111.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีด้านอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งดัชนีด้านสินค้าคงคลัง ที่ปรับตัวลดลง ถือเป็นสัญญาณที่ของการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.8 จุด จากระดับ 52.4 จุดในเดือนก่อน ซึ่งสะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ เสถียรภาพภายในประเทศก็มีทิศทางที่ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มจากร้อยละ 0.0 ในเดือนก่อน รวมทั้ง อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 58 ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ คู่ค้าก็ยังคงถือเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 14 เดือน จากการส่งออกไปจีนและอาเซียน ที่หดตัวลง นอกจากนี้จำเป็นต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่ 2 (Abenomics 2.0) ที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ