รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 18, 2015 13:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยและเอเชียส่วนใหญ่ปิดตลาดเป็นบวกหลังสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

2. มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

3. มูลค่าการส่งออกสิงคโปร์ เดือน พ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ -5.9

1.ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยและเอเชียส่วนใหญ่ปิดตลาดเป็นบวกหลังสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
  • ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยและเอเชียส่วนใหญ่ปิดตลาดในวันที่ 17 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้น อาทิ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่น ดัชนี S&P/ASX ของออสเตรเลีย และดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ ปิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ร้อยละ 1.6 ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 0.4 จากวันก่อนหน้า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 58 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 9 ปี ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเอเชียที่ปิดตลาดเพิ่มขึ้นนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ดัชนี Dow Jones ของสหรัฐฯ ปิดตลาด ณ 16 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากวันก่อนหน้า และดัชนี FTSE-100 ของสหราชอาณาจักรปิดตลาด ณ 17 ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากวันก่อนหน้า เป็นต้น เนื่องจาก FOMC มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเป็นไปตามที่ตลาดโลกส่วนใหญ่คาดการณ์ และธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปอย่างชัดเจน ทำให้ความกังวลของนักลงทุนในประเด็นดังกล่าวหมดไป อย่างไรก็ตาม ดัชนี Dow Jones ปิดตลาด ณ 17 ธ.ค. 58 ลดลงร้อยละ 1.4 จากวันก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังส่งให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และทำให้เงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคอ่อนตัว สะท้อนจากเงินบาทปิดตลาด ณ 17 ธ.ค. 58 ที่ 36.068 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงร้อยละ 0.23 จากวันก่อน ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นปิดตลาดอ่อนค่าร้อยละ 0.29 จากวันก่อน
2. มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น แถลงตัวเลขการส่งออก เดือน พ.ย. 58 หดตัวติดต่อเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดเอเชียและจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่า การนำเข้า เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยละ -10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่หดตัวน้อยกว่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. กล่าวกลับมาขาดดุลที่ -3.8 แสนล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นที่เริ่มหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากจีนหดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดจีนนับมีสัดส่วนความสำคัญกว่าร้อยละ 18.3 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 57 ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในวงจำกัด เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจ มีลักษณะปิดและพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 17.1 ของ GDP (สัดส่วน ณ ปี 57) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 58 ยังมีสัญญาณขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น กอปรกับเงินเยนยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอ่อนส่งผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะในภาคบริการ ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามคือ การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ )ในวันที่ 17 - 18 ธ.ค. 58 ที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจมีความเคลื่อนไหวของมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมภายหลังธนาคารกลางสหรัฐ (FED )ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี
3. มูลค่าการส่งออกสิงคโปร์ เดือน พ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ -5.9
  • มูลค่าการส่งออกสิงคโปร์ เดือน พ.ย. 58 หดตัวร้อยะละ -5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกน้ำมันที่ยังคงหดตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ -35.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ เป็นผลจากการหดตัวของ การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศในเอเชียที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มฟื้นตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของสิงคโปร์หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 58 หดตัวร้อยละ -7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าซึ่งส่งผลให้มีอุปทานจากตลาดโลกลดลง และการหดตัวของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 14.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมหดตัวต่อเนื่องจากปัจจัยด้านราคา ทั้งนี้ การหดตัวของมูลค่าการส่งออกมีผลค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากถึงร้อยละ 193.9 ของ GDP (สัดส่วน ณ ปี 57) โดยส่งผลให้เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอลงต่อเนื่อง ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 58 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอลงทำให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวร้อยละ 2.1 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ