ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 15, 2016 11:47 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – ธันวาคม 2558)จัดเก็บได้ 581,306 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 64,545 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.6) โดยการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการจัดเก็บภาษีเบียร์สูงกว่าประมาณการ 56,0844,163 และ 3,845 ล้านบาท หรือร้อยละ 111.06.8 และ 18.2 ตามลำดับทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2558 หน่วยงานอื่นจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 52,879 ล้านบาทหรือร้อยละ 238.1 เป็นผลจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) และ การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลัง และการนำส่งรายได้พิเศษในเดือนธันวาคม 2558 ที่สูงกว่าประมาณการ รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภค ในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าเป้าหมายสำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2559 คาดว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนธันวาคม 2558

และในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – ธันวาคม 2558)

ในเดือนธันวาคม 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 235,512 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 57,916 ล้านบาทหรือร้อยละ 32.6ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559รายได้รัฐบาลสุทธิเท่ากับ 581,306 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 64,545ล้านบาท หรือร้อยละ 12.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.6) รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนธันวาคม2558

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 235,512 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 57,916 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 36.8)โดยการนำส่งรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 52,879 ล้านบาท หรือร้อยละ 238.1 เนื่องจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) และการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียนสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,392 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 เนื่องจากการบริโภค ในประเทศยังคงมีการขยายตัว และประกอบกับมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ 2,192 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.6และอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,066 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.9 เป็นผลจากการเร่งซื้อรถยนต์ ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

2. ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม – ธันวาคม 2558)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 581,306 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 64,545 ล้านบาทหรือร้อยละ12.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.6) โดยการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 56,084 และ 3,253 ล้านบาทหรือร้อยละ 111.0 และ 11.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีได้สูงกว่าประมาณการ 3,091 และ 549 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 และ 1.8 ตามลำดับ ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 357,420 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,382 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.3 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,566 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.3) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,732 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.7) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,577 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.6) เป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศสูงกว่าประมาณการ 845 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.6)

2.2 กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 127,200 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 3,091 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.4) เป็นผลจากภาษีเบียร์ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,845 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.2) เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งการผลิตเพื่อรองรับฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่และภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,833 ล้านบาท หรือร้อยละ11.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 29.2) เป็นผลจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,696 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 104.8) เนื่องจากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิตามเอกสารงบประมาณจัดทำขึ้นภายใต้สมมติฐานให้จัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลในอัตราลิตรละ 5.25 บาท แต่จัดเก็บได้อัตราลิตรละ 4.25 บาท จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2558 และจัดเก็บในอัตราลิตรละ 4.95 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 นอกจากนี้ ภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,068 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.9)

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 30,949 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 549 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.1) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าสูงกว่าเป้าหมายจำนวน 540 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 หดตัวร้อยละ 14.0 และ 5.2 ตามลำดับและสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

2.4 รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้รวม 31,398 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,253 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 32.8) โดยมีสาเหตุหลักจากกองทุนรวมวายุภักษ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการประปานครหลวงนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 106,588 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 56,084 ล้านบาท หรือร้อยละ111.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 94.0) เนื่องจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินบางส่วน

สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 2,598 ล้านบาทสูงกว่าเป้าหมาย 155 ล้านบาทหรือร้อยละ 6.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.9) โดยมีสาเหตุหลักจากการจัดเก็บรายได้จากที่ราชพัสดุได้สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากรจำนวน 62,020 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,768 ล้านบาทหรือร้อยละ 13.6 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 54,648 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 9,952 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 7,327 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 184 ล้านบาทหรือร้อยละ 2.6

2.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 2,759 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 414 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.7

2.8 การจัดสรรรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 3,765 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 541 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.6

2.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 3,705 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 55 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02273 9020 ต่อ 3573

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ