รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2016 12:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 มกราคม 2559

Summary:

1. พาณิชย์ เผยส่งออกไก่ปี 58 สูงกว่าเป้า 6 แสนตัน

2. พาณิชย์ ปรับบทบาทเน้นการค้าบริการและการตลาดแทนภาคการผลิต เตรียมจัดทำดัชนีชี้วัด

3. ดัชนี Markit Flash U.S. Manufacturing PMI ของเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.7

1. พาณิชย์ เผยส่งออกไก่ปี 58 สูงกว่าเป้า 6 แสนตัน
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปในปี 58 มีปริมาณ 622,071 ตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 14 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,405 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49 แบ่งเป็น การส่งออกไก่สด 176,055 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 และไก่แปรรูป 446,016 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ซึ่งเป็นการปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 600,000 ตัน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมไก่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่สูงถึงร้อยละ 79.9 ของการส่งออกในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมด หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.1 ของการส่งออกรวม ซึ่งโครงสร้างการส่งออกไก่ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกไก่แปรรูปร้อยละ 82.6 และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 17.4 ของการส่งออกไก่ทั้งหมด โดยการส่งออกไก่ในช่วง 11 เดือนแรก ของปี 58 พบว่ามีมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 2,199.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.46 ซึ่งประกอบด้วยไก่แปรรูปที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1,816.08 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.76 และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ทื่383.20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีตลาดหลัก 5 อันดับแรกของการส่งออก คือ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ลาว และ สิงคโปร์ ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้ม การส่งออกไก่ในปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อน โดยได้รับอานิสงส์จากการรวมกันของประชาคมอาเซียน (AEC) เนื่องจากการรวมตัวดังกล่าวทำให้เกิดตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการเติบโตของการส่งออกไก่ไปยังประเทศอาเซียน พบว่ามีการเติบโตในอัตราเร่ง สะท้อนจากการส่งออกไก่ไปประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซียในช่วง 11 เดือนของปี 58 ที่มีอัตราการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 887.77 188.45 56.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
2. พาณิชย์ ปรับบทบาทเน้นการค้าบริการและการตลาดแทนภาคการผลิต เตรียมจัดทำดัชนีชี้วัด
  • นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) เสนอแนะและจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าในเชิงรุก และร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ โดยเน้นการค้าบริการมากขึ้น และการใช้การตลาดนำเศรษฐกิจ อีกทั้งกำลังเตรียมจัดทำดัชนีค่าขนส่งอาเซียนและดัชนีการค้าปลีก เพื่อใช้วัดและติดตามภาวะการค้าบริการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการผลิตหลักของไทย ได้แก่ ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการโดยภาคบริการถือว่าเป็นภาคการผลิตที่มีสัดส่วนสูงที่สุด โดยมีสัดส่วนร้อยละ 64.3 ของ GDP ประเทศ โดยสาขาการค้าปลีกค้าส่ง และสาขาการขนส่งและคมนาคม มีสัดส่วนร้อยละ 14.7 และ 9.7 ตามลำดับ สูงกว่าภาคการผลิตสาขาเกษตรกรรมที่มีสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของ GDP แต่ยังไม่มีเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจ (Indicator) ที่สามารถชี้วัดเศรษฐกิจใน 2 สาขาดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วเพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น หากกระทรวงพาณิชย์มีการผลักดันการจัดทำดัชนีค่าขนส่ง และดัชนีการค้าปลีก ก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจในสาขาการค้าปลีกค้าส่ง และสาขาการขนส่งและคมนาคมได้ อีกทั้งหากเป็นดัชนีของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง และมีมูลค่าการค้ากับไทยที่สูง ก็สามารถใช้ดัชนีดังกล่าวมาวิเคราะห์เศรษฐกิจเพื่อการดำเนินกลยุทธทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐเพื่อประโยชน์ทางด้านการค้า และเศรษฐกิจได้
3. ดัชนี Markit Flash U.S. Manufacturing PMI ของเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.7
  • ดัชนี Markit Flash U.S. Manufacturing PMI ของเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.7 หลังจากดัชนีอยู่ที่ 51.2 ในเดือน ธ.ค. 58 ซึ่งตัวเลขดัชนีที่มากกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ มีการขยายตัว ทั้งนี้ นาย Chris Williamson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมาร์กิต ให้ความเห็นว่า ดัชนี PMI เบื้องต้นในเดือน ม.ค. เป็นการปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกดัชนีย่อย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตสหรัฐฯ มีความกังวลในเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนลดลง เห็นได้จากดัชนีคำสั่งซื้อภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากยังมีอุปสงค์ในสินค้าสหรัฐฯ จากตลาดอื่นๆ ที่หักล้างกับอุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัวลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณดีต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลล่าสุด เช่น 1) ดัชนี consumer sentiment ในเดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 58 มาอยูที่ระดับ 92.6 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเงินเฟอที่ต่ำลง โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. ลดลงมาอยู่ที่รอยละ 0.1 ซึ่งจะสนับสนุนรายไดที่แท้จริงของผูบริโภคให้เพิ่มขึ้น และ 2) ยอดขายบ้าน มือสองในสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 58 ร้อยละ 14.7 ต่อเดือน ส่งผลให้ภาพรวม ปี 58 มียอดขายบ้านมือสองอยู่ที่ 5.26 ล้านยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ต่อปี นับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ปี 49 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 58 และ 59 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 และ 2.5 ต่อปี ตามลำดับ โดยจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 28 ม.ค. 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ