รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2016 13:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 มกราคม 2559

Summary:

1. พาณิชย์เผย ธ.ค.ส่งออกหดตัวร้อยละ -8.73 ขณะที่นำเข้าหดตัวร้อยละ -9.23

2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ Q1/59 โตได้ร้อยละ 4-4.2

3. GDP เกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. พาณิชย์เผย ธ.ค.ส่งออกหดตัวร้อยละ -8.73 ขณะที่นำเข้าหดตัวร้อยละ -9.23
  • ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าherek 69024 ระหว่างประเทศในเดือน ธ.ค.58 ระบุว่า การส่งออกมีมูลค่า 17,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบร้อยละ -8.73 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 15,613 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบร้อยละ -9.23 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ธ.ค.58 เกินดุล 1,487 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) ภาคการส่งออกที่หดตัวเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำกว่าคาด ประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว ยางพารา และน้ำตาล ได้ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมปรับตัวลดลงมาก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกรวมทั้งปี 2558 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี 2) อย่างไรก็ดี ตลาดส่งออกกลุ่มอินโดจีน (CLMV) ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยทั้งปี 2558 การส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 7.7 และ 3) สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้า ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป จะเป็นความท้าทายสำหรับภาคการส่งออกไทยในปีนี้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การที่ค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาค และการเติบโตของการค้าชายแดน จะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยได้ในระยะต่อไป โดย สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกจะยังสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2559 (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 58) จับตา: การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า 15 ประเทศและการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 59
2. ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ Q1/59 โตได้ร้อยละ 4 - 4.2
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศช่วงไตรมาส 1/59 จะเติบโตได้ที่ระดับร้อยละ 4.0-4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก 1) มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี 58 จนถึงเดือน เม.ย.59 และ 2) การเบิกใช้ซอฟท์โลนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เม็ดเงินส่วนหนึ่งจะทยอยเบิกช่วงไตรมาส 1/59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากยอดสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ในเดือน พ.ย. 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 59 ได้แก่ 1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 59 โดยคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.8 (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 58 ) 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีส่วนช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือน ส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต และ 3) อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคกลับมาขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวได้ จับตา:สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 59
3. GDP เกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ส่งผลให้ในปี 58 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากปี 57
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1. เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 58 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกเป็นสำคัญ โดยการส่งออกเกาหลีใต้ในปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -8.0 จากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ตามการลดลงของการส่งออกไปในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ดีในส่วนของอุปสงค์ภายในประเทศ พบว่ายังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากการบริโภคภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.1 จากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ และ 2. สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 (ประมาณการ ณ เดือน ต.ค. 58 โดยจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 28 ม.ค. 59 นี้) จับตา: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาสแรกของปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ