รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2016 11:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2559

Summary:

1. ก.เกษตรฯ ตั้งเป้าปี 59 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนผลิตภาคเกษตร

2. ซีไอเอ็มบีไทย เล็งหั่นจีดีพีเหลือโตต่ำร้อยละ 3.0

3. ไต้หวันเผยส่งออกร่วงลงติดต่อกัน 13 เดือนในเดือน ก.พ. 59

1. ก.เกษตรฯ ตั้งเป้าปี 59 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนผลิตภาคเกษตร
  • นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายให้ปี 59 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตรและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน 4 ด้าน คือ การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 58 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในสาขาเกษตรกรรมเป็นสาขาเดียวในภาคการผลิตที่มีการหดตัว (ร้อยละ -3.4) เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตได้รับผลกระทบ กอปรกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรส่งออกหลัก อาทิ ราคาข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจะมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรลดลงแล้วก็ตาม แต่ต้นทุนการผลิตทางด้าน ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้รายได้ที่เกษตรกรได้รับยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 58 พบว่ารายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้น หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมซึ่งมีครัวเรือนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก (ร้อยละ 25.9 ของครัวเรือนทั้งหมด) โดยมีการจัดการอย่างบูรณาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) การลดต้นทุน (2) การเพิ่มผลผลิต (3) การบริหารจัดการและ (4) การตลาด ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรทั้งในระยะสั้น และในระยะยาวได้ โดยจะก่อให้เกิดต้นทุนการผลิตที่ลดลง เกิดมูลค่าเพิ่ม ผลผลิตมีมาตรฐาน มีตลาดรองรับ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรดีขึ้นในที่สุด
2. ซีไอเอ็มบีไทย เล็งหั่นจีดีพีเหลือโตต่ำร้อยละ 3.0
  • ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMB) กล่าวว่าธนาคารเตรียมปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยว่าจะเติบโตได้ราวร้อยละ 3.3 หลังเล็งเห็นความเสี่ยง ขาลงค่อนข้างมากจากตัวเลขเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน ม.ค.59 ที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก รวมทั้งตัวเลขของการส่งออกที่ติดลบมากกว่าที่คาด ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับคาดการณ์ในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ และมีความเป็นได้ที่จีดีพีจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 3.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนแรกของปี 59 ที่ออกมาแม้ว่าจะยังส่งสัญญาณชะลอตัวบ้างในบางสาขา จากการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาคการส่งออกของไทยที่ยังคงติดลบในเดือน ม.ค. 59 อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยสะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าในประเทศเดือน ม.ค. 59 ขยายตัวถึงร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ด้านการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนหลักจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 59 ให้ขยายตัวได้ตามที่คาด ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (คาดการณ์ ณ ม.ค. 59)
3. ไต้หวันเผยส่งออกร่วงลงติดต่อกัน 13 เดือนในเดือน ก.พ. 59
  • กระทรวงการคลังไต้หวัน เปิดเผยว่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 59 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.778 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ -11.8 เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน นอกจากนี้ การลดลงของการส่งออกยังเกิดจากการที่เดือน ก.พ. 59 มีจำนวนวันทำงานน้อยกว่าเดือนอื่นๆ อันเนื่องจากเทศกาลตรุษจีน และการเกิดแผ่นดินไหวทางใต้ของประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไต้หวันที่ลดลงต่อเนื่อง มีปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออก สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ปรับลดลงจากระดับ 50.6 จุดในเดือนก่อนหน้า ที่ยังคงสะท้อนถึงภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงอ่อนแอ ขณะที่ การว่างงานล่าสุดในเดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม และเป็นการทรงตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ