รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2016 11:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2559

Summary:

1. กรมโรงงานเผย 36 จังหวัดพร้อมลงทุนอุตสาหกรรม

2. ธปท.จ่อหั่น GDP ปี 59 ลงต่ำกว่าร้อยละ 3.5 จากปัจจัยศก.ตปท.-ภัยแล้ง-เบิกจ่ายล่าช้า

3. ส่งออกจีนเดือน ก.พ. 59 แย่ที่สุดในรอบ 7 ปี

1. กรมโรงงานเผย 36 จังหวัดพร้อมลงทุนอุตสาหกรรม
  • นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชนทั้งไทยและต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในไทย กรอ. ได้ดำเนินโครงการอินดัสเทรียล โซนนิ่ง ปีที่ 3 โดยปีนี้มีจังหวัดทั่วประเทศที่เหมาะแก่การเข้าไปลงทุนภาคอุตสาหกรรม รวม 17 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ ปทุมธานี ราชบุรี หนองคาย อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครพนม และนราธิวาส
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การกำหนดพื้นที่ลงทุนใน 17 จังหวัด จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในไทย โดยสะท้อนความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และแหล่งวัตถุดิบ เพื่อสนับสนุนการใช้พื้นที่เป็นที่ตั้งในการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรม หากพิจารณาเครื่องชี้การลงทุนสะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 59 มีมูลค่า 17.7 พันล้านบาท หดตัวแต่ในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี แต่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ขยายตัวที่ร้อยละ 98.3 531.7 1,458 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดในเดือน ม.ค. 59 ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3.6 พันล้านบาท (2) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เซรามิก 2.4 พันล้านบาท และ (3) อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์ม 1.5 พันล้านบาท จับตา: ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสแรก ปี 59
2. ธปท.จ่อหั่น GDP ปี 59 ลงต่ำกว่าร้อยละ 3.5 จากปัจจัยศก.ตปท.-ภัยแล้ง-เบิกจ่ายล่าช้า
  • นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มี.ค.59 ธปท.จะแถลงปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) รอบใหม่ โดยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 หลังจากเห็นความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนธ.ค.58 ที่ผ่านมาชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความผันผวนจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ากว่าเดิม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนแรกของปี 59 ที่ออกมาแม้ว่าจะส่งสัญญาณชะลอตัวบ้างในบางสาขา จากการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนและภาคการส่งออกของไทยที่ยังคงติดลบในเดือน ม.ค. 59 อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยเดือน ม.ค. 59 ขยายตัวถึงร้อยละ 15.0 ต่อปี ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 259.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี อีกทั้งยังจะได้รับแรงสนับสนุนหลักจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 59 ให้ขยายตัวได้ตามที่คาด ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: การลงทุนภาคเอกชนและมูลค่าการส่งออกไตรมาสแรก ปี 59
3. ส่งออกจีนเดือน ก.พ. 59 แย่ที่สุดในรอบ 7 ปี
  • สำนักงานศุลกากรจีนแจ้งว่า ยอดส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ลดลงถึงร้อยละ -25.4 จากเดือนเดียวกันปีก่อน เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ขณะที่ยอดนำเข้าลดลงร้อยละ -13.8 ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จีนเกินดุลการค้า 32,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.15 ล้านล้านบาท) นักวิเคราะห์ชี้ว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นผลจากการหยุดยาวช่วงตรุษจีนเพราะธุรกิจต่างๆ พากันหยุดหรือลดกำลังผลิตลงมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของจีนที่หดตัวต่อเนื่อง มีปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเชื้อเพลิงให้ลดลงตาม ซึ่งสอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม NBS และ Caixin เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 49.0 และ 48.0 จุด ตามลำดับ ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุด เป็นเดือนที่ 7 และ 12 ตามลำดับ สะท้อนถึงภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.6 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59) จับตา: มูลค่าการส่งออกของจีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ